ข่าว

'ก้าวไกล'  รุก ปิดสวิตช์สว. พ้น โหวตนายกรัฐมนตรี   -ลั่นถึงเวลาคืนอำนาจปชช.

'ก้าวไกล' รุก ปิดสวิตช์สว. พ้น โหวตนายกรัฐมนตรี -ลั่นถึงเวลาคืนอำนาจปชช.

14 ก.ค. 2566

"ก้าวไกล" นำเรื่องเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ สว.  มีส่วนร่วมในการโหวตนายกรัฐมนตรี ชี้ในเมื่อสว.จำนวนมากสนองตอบไม่ใช่สิทธิ ด้วยการงดออกเสียง จึงควรให้มาเป็นเวทีของสส. ระบุเพื่อไทย ทราบเรื่องและไม่ขัดข้อง

ที่อาคารรัฐสภา พรรคก้าวไกลนำโดย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์  รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  , นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยสส.ของพรรคก้าวไกล ได้ยื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นการแก้ไขกฎหมาย โดยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา( สว.  ) มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว หรือเรียกว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชนหรือ ปิดสวิตช์สว.

 

 

 

นายชัยธวัช กล่าวว่า   การยื่นแก้กฎหมาย  เนื่องจากการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสที่
13 ก.ค.ที่ผ่านมา   เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์   พรรคก้าวไกล ปรากฏชัดว่ามีสว.จำนวนมาก ได้งดออกเสียง 159 คน และไม่มาประชุม  43 คน ซึ่งหลายคนได้แสดงออกชัดเจนว่าตนเองไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี    ให้เป็นเรื่องของสส.   ดังนั้นเมื่อสว.จำนวนมากประสงค์เช่นนั้น  ต่อการไม่ใช้สิทธิของตนเองโดยการงดออกเสียง ก็จะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง 

พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกให้กับสว. ซึ่งเชื่อว่าทางนี้จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ของทั้งสว.
และตอบโจทย์ ในระบบรัฐสภาของไทย ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ เพื่อที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  ทั้งนี้เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นคนละส่วนกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถดำเนินการคู่ขนานไปได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการไปอีกกี่ครั้ง

 

มั่นใจสว.ไม่ขัดข้องเพราะเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้สิทธิ

 

 

ดังนั้นพยายามหาทุกช่องทางที่จะทำให้สามารถมีข้อยุติ เรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี  และพรรคก้าวไกลรวมถึงอีก 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะทำหน้าที่พยายามที่จะขอเสียง จากสว. เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนการยื่นร่างแก้ไขมาตรา272 ในวันนี้ ได้แจ้งไปยังพรรคเพื่อไทยให้ทราบแล้ว และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ขัดข้อง แต่อย่างใด เพราะได้เตรียมร่างนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว   เพื่อนสมาชิกได้เซ็นเสนอร่างทิ้งไว้แล้ว และมีการตัดสินใจเมื่อคืนนี้(13 ) ที่จะยื่นต่อสภาในทันที เพื่อที่จะใช้เวลาให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเข้าใจดีว่าเมื่อเร่งรีบและต้องการให้ระยะเวลาสั้นที่สุด ก็ไม่สามารถที่จะมีเวลารอให้สมาชิกจากพรรคอื่น มาร่วมเซ็นด้วย   ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

 

 

 


"ส่วนการยื่นแก้กฎหมายมาตรา 272 ในครั้งนี้ ครั้งนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจโหวตเลือกนายพิธาของ สว.หรือไม่  แล้วแต่มุมมอง แต่เชื่อว่าไม่ได้กระทบอะไร เพราะเนื่องจากว่าสว.ก็ไม่ประสงค์ที่จะออกเสียงอยู่แล้ว จึงมองหาทางออกให้กับทุกฝ่าย ในเมื่อลงคะแนนงดออกเสียง 159 คน และไม่มาประชุมเลย 43 คน ดังนั้นจำนวนมากก็ควรที่จะยินดีหากไม่ต้องใช้สิทธิอย่างเป็นทางการเลย "

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วยกับการยื่นครั้งนี้หรือไม่นั้น คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะร่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอไปหลายครั้ง ในสภาสมัยที่แล้ว แต่ครั้งนั้นพรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาลเช่นพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกเสียงให้โดยตลอดเห็นด้วยกับร่างดังกล่าว ในครั้งนี้ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรและสว.จำนวนมาก ก็เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สว.หลายคนมีความประสงค์ที่ไม่เห็นด้วยกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นี่คือทางออกที่ดีที่สุด

 

 

 

ถ้าสว.จะเอาเรื่องการแก้ไข 112 มาเป็นเงื่อนไขในการไม่ร่วมแก้ไขมาตรา 272 นั้น   เห็นว่าไปไกล ถือว่าไกลเกินกว่าที่จะโยง เพราะเรื่องนี้เป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่ายสบายใจ ในเมื่อมีมโนธรรมสำนึกในใจว่าไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทำการอะไรที่ไม่ขัดกับมโนธรรมสำนึก ก็ยกเลิกมาตรานี้ และคืนอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของประชาชน เมื่อตัดสินประชาชนตัดสินใจไปแล้วจะถูกจะปิดก็ไม่เกี่ยวกับสว. ย้ำว่านี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

หวังสส.ซีกรัฐบาลเดิมสนองตอบ ยกเลิกมาตรา 272

 

 

"ไม่กังวล ว่าการยื่น แก้ไขมาตรา 272 จะพาพรรคก้าวไกลไปสู่ฝ่ายค้าน เพราะเราต้องการทำตามความประสงค์ของสว.จำนวนมากและไม่เกี่ยวกันกับการโหวตนายกรัฐมนตรี และต้องไปถามสว. ว่าในเมื่อไม่ประสงค์ที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี จะเห็นด้วยหรือไม่กับร่างดังกล่าว  ส่วนข้อกังวลที่ว่าระยะเวลาในการแก้กฎหมายอาจจะยาวนาน และไม่ทันกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี   แท้จริงการแก้กฎหมายไม่ยาวนานขนาดนั้น เพราะเนื้อหาสาระไม่ได้มีอะไรมากนอกจากการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว  และ ไม่สามารถบอกได้ว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาอีกกี่ครั้ง ดังนั้นเราจะว่าพยายามที่สุดที่จะหาทางเลือกใหม่  ๆให้กับสังคมไทย และคาดหวังว่าสมัยประชุมนี้ ฝ่ายรัฐบาลเดิมจะมีจุดยืนเช่นเดิม แม้ในขณะนี้จะไม่มีฝ่ายค้านก็ตาม  "

 

 

 

นายชัยธวัช กล่าวว่า  การที่สว. ยกข้อบังคับที่ 41 ที่ว่าไม่ให้มีการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งการเสนอชื่อนายพิธา อีกครั้งในการโหวตนายกรัฐครั้งต่อไปจะขัดต่อข้อบังคับนั้น   เป็นการตีความผิด  ไม่สามารถเอาวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งกำหนดไว้ แยกเป็นการเฉพาะอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไปรวมตีความรวมเป็นญัตติทั่ว ๆ ไป เหมือนญัตติอื่น ๆ ในสภาได้ ดังนั้นต้องแยกออกจากกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 8 พรรค ร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้กันแล้วและเห็นตรงกันว่าไม่สามารถตีความข้อบังคับแบบนั้นได้ และไม่กังวลว่าสว.จะนำข้อบังคับ 41 นี้เข้ามาตีรวนในสภาจนไม่สามารถ เสนอนายพิธาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป

 

 

 

สำหรับที่มีแกนนำ หลายจังหวัดให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อรักษาไว้ในนโยบายอื่น ๆ นั้น  ถ้าเป็นความเห็นจากแกนนำในพรรคในแต่ละจังหวัดหรือสส.พรรค คงมีกระบวนการหารือกัน  แต่เบื้องต้นพยายามทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องนี้เป็นข้ออ้างบังหน้าเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ได้เห็นข้อความ ที่ส่งกันใน LINE ของสว.ที่อ้างว่า "ให้ระวังไว้ ว่านายพิธาจะประกาศในรัฐสภาว่าจะไม่แก้ 112 แล้วแต่ขออย่าให้เชื่อ อย่าให้ถูกหลอกเพราะพวกเขามีวัตถุประสงค์ ในทางไม่ดี...." และในการประชุมรัฐสภาก็มีสว.บางคน ที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณที่ระบุว่า "ต่อให้นายพิธาประกาศว่าไม่แก้ 112 ก็ไม่เชื่อ เพราะมีความเลวร้ายอื่น อีก..." ไม่มีเรื่องนี้ก็มีเรื่องอื่น

 

 

 

สำหรับสว.จำนวนหนึ่ง ต้องทำความเข้าใจว่า  เหตุผลที่แท้จริงคือมีกลุ่มขั้วอำนาจเดิม ยังพยายามที่จะพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลโดยร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มทุนที่ไม่ต้องการเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเพราะไม่ต้องการเสียผลประโยชน์จากนโยบาย  ดังนั้นจึงพยายามทุกวิธีทาง ทั้งผ่านรัฐสภาหรือผ่านกระบวนการอื่นๆ รวมถึงข้อสงสัยเรื่องการทำงานขององค์กรอิสระบางองค์กรด้วยเพื่อเป้าหมายเดียว   เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุ
 

 

 

นายวันมูหะมัดนอร์  มะมา  ประธานสภาผู้แทนราษฏร  กล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่สภาได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ของรายชื่อ และเอกสาร เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป ส่วนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไป ได้ออกหนังสือเชิญสมาชิกรัฐสภามาประชุมในวันที่ 19 ก.ค.