'สมบัติ บุญงามอนงค์' แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจ 'สว.'
'สว.'ไม่โหวตนายกฯซึ่งมาจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ถือเป็นปฏิปักษ์ ต่อระบอบการปกครองฯ 'สมบัติ บุญงามอนงค์ ' แนะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ล่าสุดถึงพี่น้องประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย และตัวแทนพรรคการเมืองในสภา ให้เฝ้าระวังการกระทำของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ดำรงตำแหน่ง สว. และเสนอให้หยุดกระทำการที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย
หลังนัดหมายชุมนุมวันที่ 23 ก.ค. 66 สมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ ชี้แจงหลักการที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวโดยเสนอแนะให้ ประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการทำหน้าที่ ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ที่ไม่เห็นด้วย กับการโหวตนายกฯ ซึ่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง มีสาระสำคัญว่า
การกระทำของ สว. วันที่ 13 กค ที่โหวดไม่เห็นชอบกับรายชื่อนายกที่สภาผู้แทนเสนอขึ้นมานั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ว่าด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เพราะหน้าที่ของ สว ในคำถามพ่วงท้าย มีเพียงแค่การรับรองผู้ที่ถูกเสนอชื่อมาจากสภาผู้แทนราษฏรเท่านั้น เพราะ สส. ได้รับฉันทมติมาจากประชาชน แต่ สว. ไม่ใช่
เรื่องนี้บรรดา สว. หลายคนได้อธิบายไว้ตั้่งแต่ตอนเลือกประยุทธเป็นนายกฯปี 62 ว่าตนเองไม่มีสิทธิ์ทำอย่างอื่นได้เลย นอกจากรับรองเสียงข้างมากที่เสนอขึ้นมา ใครได้เสียงมากสุดก็เลือกคนนั้น ต่อให้เป็นใครก็ตามที เพราะ สว. ไม่มีสิทธิ์ใช้อำนาจเหนือ สส. ที่ประชาชนเลือกมา
การที่ สว อ้างสถานะของตนเองจากคำถามพ่วงท้ายในการลงประชามติ เมื่ออำนาจที่มาจากคำถามพ่วงท้ายเกิดขัดแย้งกับอำนาจประชาชนที่ไปเลือกตั้ง คำถามคือ ระหว่างคำถามพ่วงท้ายฯ กับรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ใครมีศักดิ์ที่สูงกว่ากัน
คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้ที่คำถามพ่วงท้ายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ สว. ชุดนี้มีที่มาจากการเลือกของ คสช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและได้สลายตัวไปแล้วหลังการเลือกตั้งปี 62 แต่ สว. ที่ คสช. เลือกมายังมีชีวิตอยู่
ต่อคำถามที่ว่า สว. ชุดนี้ มีความชอบธรรมในการดำรงอยุ่ในขณะที่ประเทศเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และหากมีความชอบธรรมอยู่บ้าง แต่จะมีความชอบธรรมถึงกับออกเสียงขัดขวางฉันทมติที่มาจากสภาผู้แทนราษฏรได้อย่างไร
ดังนั้น สว จึงมีสถานะเพียงสิ่งตกค้างจากยุคเผด็จการ คสช. ไม่สามารถแสดงบทบาทเช่นเดียวกับ คสช. ในยุคที่เรืองอำนาจ เป็นแต่เพียงตรายางที่รับรองเสียงจากสภาผู้แทนราษฏรเท่านั้น
เมื่อการกระทำดังกล่าวของคณะ สว. ในวันที่ 13 ก.ค. 66 ที่ผ่านมาขัดแย้งต่อเจตจำนงค์และสาระสำคัญในหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรให้ประธานรัฐสภานำเรื่องนี้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยและสั่งให้ สว. กลุ่มดังกล่าวยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทันที