ข่าว

'เพื่อไทย'  รักษามารยาทรอ 'ก้าวไกล 'โยนผ้า  - ลุยทัพหน้าตั้งรัฐบาล

'เพื่อไทย' รักษามารยาทรอ 'ก้าวไกล 'โยนผ้า - ลุยทัพหน้าตั้งรัฐบาล

18 ก.ค. 2566

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยอมรับ การจะพูดถึง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากฝั่ง "เพื่อไทย" ไม่ว่าจะเป็น "แพทองธาร" หรือ " เศรษฐา" ต้องระมัดระวัง ให้เกียรติกับ "ก้าวไกล" และ "พิธา" ที่ยังอยู่ในฐานะพรรคหลัก แต่หากฝั่งพรรคก้าวไกล จบไม่ได้ และมีการประกาศส่งไม้ต่อ ถึงเวลานั้นรุกเต็มสูบ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  เปิดเผยว่า แนวคิดของ  น.ส. แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย   ที่ระบุว่า  พรรคเพื่อไทยจะมีการเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี    หากพรรคก้าวไกล  ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้   การกล่าวถึงชื่อนายเศรษฐา  เป็นเพียง ความเห็นของน.ส.แพทองธาร ซึ่งเรื่องดังกล่าว ยังต้องนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมในบ่ายวันนี้ ( 18 )   

 

 


 อย่างไรก็ตามการกล่าวถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากทางฝั่งเพื่อไทย  ไม่ว่าจะเป็น  น.ส.แพทองธาร  หรือ  นายเศรษฐา   ต้องระมัดระวัง รักษามารยาท  ต้องรอผลโหวตนายกรัฐมนตรี  จากพรรคก้าวไกล ที่เสนอนายพิธา   ลิ้มเจริญรัตน์   ในวันพรุ่งนี้ ( 19 )  ซึ่งกระบวนการแห่งความชอบธรรมจะเกิดขึ้น ต้องรอให้มีการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน พรรคเพื่อไทยถึงจะมีความชอบธรรมในการดำเนินการทุกอย่างได้

" ในกระบวนการวันพรุ่งนี้   หากญัตติในการเสนอชื่อนายพิธา ถูกตีตกหรือไม่ผ่าน  ตามขั้นตอน 8 พรรค ร่วม จะต้องมีการนัดประชุมใหม่   ส่วนกรณีคะแนนเสียงของนายพิธา ที่มีนัยสำคัญ  ว่าจะไปต่อหรือไม่ ( รอบ 3  ) ที่ประชุมระหว่าง 2 พรรค  ( ก้าวไกล -  เพื่อไทย ) มีการหารือร่วมว่า คะแนนเสียงเพิ่ม  ต้องมีมากกว่า 10 เปอร์เซนต์  หากคิดแบบเร็ว  ๆ ตามที่นายพิธาบอกไว้จะต้องได้ 356 เสียง หรือ 360 เสียง    ส่วนหากคะแนนเสียงไม่ถึง พรรคเพื่อไทย  จะรอให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้ประกาศ  จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการ " 

 

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า    หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลายเรื่องอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง เช่น ข้อตกลงใน MOU เดิมลงนามไว้ 8 พรรค เนื้อหาสาระจะต้องมีการเปลี่ยน แต่ก็ยังคำนึงถึงเนื้อหาเดิมอยู่ โดยไม่ได้ยกเลิก และสิทธิในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะต้องพูดคุยใน 8 พรรค เช่นการเติมเสียงพรรคที่ 9 และพรรคที่ 10 และกระบวนการหาเสียงกับสว. ก็ต้องใช้เวลา ซึ่งหากประธานสภามีการนัดประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์ถัดไปพรรคเพื่อไทยก็พร้อม 

 

 

"กรณีที่สว.บอกว่า เมื่อมีพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ไม่โหวตให้   เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงสถานการณ์สมมติ กระบวนการการได้มาของเสียง 375 เสียง จะต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐาน 8 พรรคร่วม มีความคิดเห็นอย่างไร และสิทธิของเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำมีสิทธิมากขนาดไหน และสิ่งที่ต้องฟัง คือ ความเป็นไปได้ของสว.ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และเงื่อนไขอย่างไรที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา "   นพ.ชลน่าน  ระบุ