2 พรรคฯ รุมชี้ ‘โหวตนายกรอบ2’ เป็นญัตติ- ‘โรม’ เตือนตีความกม.เพี้ยน ชาติพัง
2 พรรคการเมือง รทสช.-พปชร. รุมชี้ ‘โหวตนายกรอบ2’ เป็นญัตติ ลงมติ ‘พิธา’ ซ้ำไม่ได้ - ‘โรม’ เตือนตีความกฎหมายเพี้ยน ทำบ้านเมืองเสียหาย
การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 หลังการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภา มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว
โดยตลอดช่วงเช้า และช่วงบ่ายที่ผ่านมา วันนี้ (19 ก.ค.) ที่ประชุมได้ถกเถียงกันว่า จะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้หรือไม่ ภายหลัง นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรครวมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอชื่อ “นายพิธา” ให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 เพียงรายชื่อเดียว โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอบุคคลอื่นชื่อท้าชิง
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ชี้แจงย้ำถึงสาเหตุที่ขอให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาการเสนอของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้รัฐสภาพิจารณานายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 นี้ ถือเป็นญัตติที่รัฐสภา เคยตีตกไปแล้ว และไม่สามารถเสนอซ้ำได้อีกหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 บัญญัติว่า ญัตติใดที่รัฐสภา ตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอได้ใหม่ ในสมัยประชุมเดิม
ซึ่งชื่อนายพิธา ก็ได้ถูกตีตกไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎคมที่ผ่านมา เว้นแต่ประธานรัฐสภา จะอนุญาตให้กลับมาพิจารณาใหม่ได้ กรณีเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนไป แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังไม่เห็นว่า จะมีสถานการณ์เปลี่ยนไปที่จะทำให้รัฐสภากลับมาพิจารณาซ้ำ
ทั้งยังเป็นการเสนอชื่อบุคคลเดิม และเสนอโดย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดิม รวมถึงยังมี สส. และ สว.ที่ไม่เห็นชอบนายพิธา เคยอภิปรายแสดงความห่วงใยต่อการดำเนินนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล และยื่นข้อเสนอให้พรรคก้าวไกล ถอยนโยบายดังกล่าว เพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุน
แต่นายพิธา ก็ยังคงยืนยันที่จะดำเนินนโยบายดังกล่าว และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาภายหลังการอภิปราย ก็ไม่ได้มีสัญญาณว่า พรรคก้าวไกล จะยอมถอยนโยบายดังกล่าว
ดังนั้น สถานการณ์จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ประธานรัฐสภา ชี้ขาดว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ เพราะสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนไป รวมถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 36 ก็บัญญัติไว้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี คือญัตติ แต่การรับรองการเสนอชื่อให้ใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อ 136 ประกอบ
ขณะที่ นายอรรถกร ศิริลัทยากร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ระบุว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภา เป็นญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ซึ่งนายพิธา ไม่ได้รับเสียงความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว และไม่มีเหตุการณ์อื่นเปลี่ยนไป เช่น การประกาศยอมถอยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือแสดงหลักฐานว่า จะมีสมาชิกรัฐสภาต้องการเปลี่ยนใจในการลงมติ เพื่อให้สถานการณ์เปลี่ยนไป และเมื่อสถานการณ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ในสมัยการประชุมนี้
และรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ญัตติให้เสนอซ้ำได้ และมีนัยยะให้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ดังนั้น จึงเห็นด้วยว่า การเสนอชื่อนายพิธาถือเป็นญัตติ ที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับการตีความขั้นตอนการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีว่าเป็นญัตติ เพราะเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะกระทบต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอชื่อบุคคล และญัตติ มีความหมายต่างกัน เพราะในการพิจารณาตัวบุคคล เป็นการเสนอเพื่อขอความเห็นชอบบุคล และจะต้องอาศัยหลายปัจจัยมาพิจารณาร่วมกัน
รวมถึงหากจะไม่ให้มีการเสนอบุคคลซ้ำ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่น การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ดังนั้น การหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 มาตีความการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติ ที่ถูกตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ จึงเป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
เพราะรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติถึงขั้นตอนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ และไม่ได้ห้ามบุคคลที่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบเข้าพิจารณาอีก
ดังนั้น การนำข้อบังคับการประชุม มาขัดขวางการดำเนินการรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการตีความขัดกฎหมายสูงสุดของประเทศ พร้อมมองว่า กระบวนการนี้ เพียงต้องการเตะตัดขานายพิธา และไม่มีทางที่รัฐสภา มีมติไม่เพียงพอที่จะเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะทำให้นายพิธา เสียสถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไป
พร้อมเตือนไปยัง สส. และ สว.ว่า การตีความที่ผิดเพี้ยน จะเป็นบรรทัดฐานที่จะกลับมาสร้างความยากลำบากให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ หรือบุคคลอื่น ๆ ในกรณีอื่น ๆ ที่จะสร้างความยุ่งยาก และความเสียหายให้สถาบันอื่น ๆ ของบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกรัฐสภาผลัดเปลี่ยนกันลุกขึ้นอภิปรายตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ว่าเสนอชื่อ'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการ 'โหวตนายกรอบ2' ได้หรือไม่ ตั้งแต่ช่วงหลังเปิดประชุมรัฐสภา จนถึง เวลา 15.38 น. ยังไร้ข้อยุติ