ข่าว

'จาตุรนต์' ชี้ มติคว่ำญัตติเสนอชื่อ 'พิธา' อาจเห็นนายกฯคนนอก

'จาตุรนต์' ชี้ มติคว่ำญัตติเสนอชื่อ 'พิธา' อาจเห็นนายกฯคนนอก

19 ก.ค. 2566

'จาตุรนต์' ชี้ มติคว่ำญัตติเสนอชื่อซ้ำ ขัดรัฐธรรมนูญ อาจเห็นนายกฯคนนอก เผยเสียงส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากประชาชน รอดูท่าที 8 พรรคร่วมเสนอ 'เพื่อไทย' หรือไม่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยหลังประชุมรัฐสภามีมติคว่ำญัตติเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ว่า เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การทำแบบนี้เสมือนเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ด้วยลักษณะต้อง "ห้าม" ของผู้ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้แคนดิเดตคนไหนเมื่อได้รับการเสนอชื่อแล้ว ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะไม่สามารถเสนอชื่อได้อีกในการประชุมครั้งหน้า เป็นการทำลายบทบัญญัติ มาตรา 272  และมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญปี 60 และทำลายข้อบังคับที่ 136 

 

นายจาตุรนต์ มองว่า อาจจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าประสบปัญหา กลายเป็นทางตันของประเทศ หากครั้งหน้าเสนอแล้วไม่ผ่านก็จะไหลแบบนี้ไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่า เปิดทางให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่ก็ยังมีข้อกำหนดว่าหากเสียงในรัฐสภาไม่ถึง 500 ก็จะไม่สามารถเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ยอมรับว่ามีข้อกังวล การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีกลายเป็นญัตติที่ถูกตีตกไป จะทำให้เรามาถึงจุดที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ 1 สมัยการประชุม ซึ่งแน่นอนว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะกำหนดให้สภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี 
 

นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นต้องไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผลการลงมติในวันนี้ เพราะเชื่อว่ารัฐสภายังคงสามารถแก้ไขปัญหากันเองได้ แต่ถ้าหากเป็นแบบนี้บ่อยๆ ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม จะเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองมากกว่า และการโหวตครั้งนี้ทำให้ยืนยันว่า เสียงข้างมากของรัฐสภาส่วนใหญ่นั้น เป็นผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งโดย "คณะรัฐประหาร" เป็นการลงมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงถึงการไม่เคารพเสียงของประชาชน ที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ สส. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงเสียงของประชาชนที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากความต้องการของประชาชน แต่ สว. ก็มาหักล้างไป นี่ถือว่าเป็นการหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย จะนำมาสู่วิกฤตการเมืองในอนาคต 

นายจาตุรนต์ ไม่ให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนสูตรจัดตั้งรัฐบาล เพราะขณะนี้แกนนำพรรคยังคงพิจารณาเรื่องนี้อยู่ จากนี้จะมีการหารือภายใน 8 พรรค ส่วนจะมีพรรคอื่นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น ยังต้องรอการหารือภายในพรรคก่อน และจะต้องดูว่าพรรคก้าวไกล จะเป็นคนเสนอเปลี่ยนให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งการหารือนั้นจะเป็นการรวบรัดไปถึงการหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่หารือกันนั้น จะต้องฟังความคิดคิดเห็นทั้ง 7 พรรคด้วย 

 

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่เพราะหลังเหตุการณ์นี้ ทัวร์ก็มาลงที่พรรคเพื่อไทยทันที นายจาตุรนต์ เลี่ยงตอบคำถามนี้ แต่ได้อธิบายว่าเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภานั้น เป็นเสียงของ สว. ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีฝ่ายไหนบ้าง และก็เป็นเสียงของ สส. อีกฟากฝั่งหนึ่ง และพรรคเพื่อไทยก็ยังคงยึดตามมติของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เหมือนเดิม


ส่วนหลายๆเหตุการณ์จะเป็นชนวนทำให้ประชาชนหมดความอดทนหรือไม่ นายจาตุรนต์ มองว่า น่าจะทำให้ประชาชนผิดหวังต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ณขณะนี้ อยากขอให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันตั้งสติ ช่วยกันคิด และไม่ฝืนความรู้สึกของประชาชน และขอให้แสดงออกถึงการเคารพเกียรติของประชาชน ถ้าหากยังมีสติช่วยกันคิด ก็จะสามารถช่วยกันประคับประคองระบบรัฐสภา ให้การเลือกตั้งมีความหมายต่อไป แต่ถ้าทำให้ประชาชนผิดหวังมากๆ ก็จะทำให้เกิดวิกฤตการเมือง อย่างไรก็ตามขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางเดินหน้าไปได้ด้วยระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง