ข่าว

ส่อง 'แคนดิเดตนายกฯคนที่ 30" เช็กลิสต์ ใครมีสิทธิ เมื่อ 'พิธา' ถูกตีตก

ส่อง 'แคนดิเดตนายกฯคนที่ 30" เช็กลิสต์ ใครมีสิทธิ เมื่อ 'พิธา' ถูกตีตก

20 ก.ค. 2566

'เลือกนายกรัฐมนตรี' ไม่ง่ายอย่างที่คิด ส่อง 'แคนดิเดตนายกฯคนที่ 30" พรรคการเมือง ใด มีสิทธิเสนอชื่อ เมื่อ 'พิธา' ถูกตีตก

จากมติรัฐสภา 395 : 312 เสียง วัน “โหวตนายกรอบ 2” เป็นที่แน่ชัดว่า การเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นการขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ให้สมาชิกรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้ ในสมัยประชุมนี้

 

 

 

 

 

 

จากรัฐธรรมนูญ ปี 2560  ระบุไว้ในมาตรา 272 ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้ระบบรัฐสภา หมายความว่า เสียงที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก สส. 500 คน และ สว. 250 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 750 คน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการ “เห็นชอบ” จะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ หรือ มากกว่า 376 เสียงขึ้นไป ซึ่ง “พิธา” ถูกตีตกไปตั้งแต่โหวตรอบแรก แม้จะได้รับการเลือกตั้ง สส.เสียงข้างมากก็ตาม

 

โดยประธานสภา “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” ได้กำหนดวันที่จะมีการ “โหวตนายก” อีกครั้ง ในวันที่ 27 ก.ค. 2566 ซึ่งพรรคการเมืองที่มีสิทธิเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้รัฐสภาเลือกได้นั้น ตามกฎหมายมีข้อกำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ตามที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภาฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน หรือเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง สส. 25 คนขึ้นไป

 

 

 

 

 

ดังนั้น หลังจากตัด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ที่เป็นพรรคอันดับ 1 ได้รับเลือกตั้ง สส.เข้าสภา 151 คน ออกไป หากจะไล่เรียงตามจำนวน สส. ของแต่ละพรรคการเมือง ที่ได้รับเลือกตั้ง สส.เข้าสภา ก็จะมีผู้มีสิทธิถูกเสนอชื่อเข้าชิง “แคนดิเดตนายกฯคนที่ 30” ดังต่อไปนี้

 

  1. พรรคเพื่อไทย มี สส. 141 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ
  2. พรรคภูมิใจไทย มี สส. 71 คน  แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ อนุทิน ชาญวีรกูล
  3. พรรคพลังประชารัฐ มี สส. 40 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  4. พรรครวมไทยสร้างชาติ มี สส. 36 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
  5. พรรคประชาธิปัตย์ มี สส. 25 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

 

 

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในการโหวตเลือกนายกฯ ยังคงใช้มาตรา 272 บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้ สว. มีส่วนร่วมด้วย โดยต้องใช้เสียงของ 2 สภาฯ 376 เสียง ซึ่งหากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังยืนยันตาม MOU ที่ต้องมีก้าวไกล รวมอยู่ด้วย คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะฝ่าด่าน สว. ไปได้

 

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี