ข่าว

'วันนอร์ 'ทำใจ  หมู่บ้านกระสุนตก   ปมเสนอชื่อซ้ำ 'โหวตนายกรัฐมนตรี'

'วันนอร์ 'ทำใจ  หมู่บ้านกระสุนตก ปมเสนอชื่อซ้ำ 'โหวตนายกรัฐมนตรี'

21 ก.ค. 2566

ประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา อธิบายความเป็นมา ชนวนร้อนตีตก "โหวตนายกรัฐมนตรี " รอบสอง เหตุที่ไม่สามารถใช้ตำแหน่งประธานที่ประชุม ทำหน้าที่ชี้ขาด เพราะจะโดนฟ้องได้ เมื่อขัดแย้งข้อบังคับต้องตีความเท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิชี้ขาด แจงทำหน้าที่เป็นกลางอย่างที่สุด

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา   เปิดเผยว่า  ในการประชุมรัฐสภา  วันพุธที่ 19  ก.ค. ที่ผ่านมา ที่มีมีมติเสียงข้างมากไม่ให้มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี   "โหวตนายกรัฐมนตรี " นายพิธา  เจริญรัตน์   พรรคก้าวไกล   เสนอกลับมา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา   เพราะเป็นการยื่นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41   เรื่องนี้  ยังมีบางประเด็นที่หลายฝ่ายไม่เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของประธานการประชุม   การประชุมวันนั้น ( 19 )  เป็นการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แต่ก่อนการประชุมมีข้อคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน คือ มีบางฝ่ายเสนอว่า ไม่ควรเสนอชื่อซ้ำ  เพราะจะไปขัดข้อบังคับข้อที่ 41 

 

 

 


แต่อีกฝ่ายเห็นว่า การเสนอเลือกนายกรัฐมนตรี   " โหวตนายกรัฐมนตรี  " ไม่ใช่ญัตติปกติทั่วไป เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม หมวด 9 ที่ได้ออกแบบพิเศษ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเกิดการถกเถียงว่า ไม่ควรใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย   ก่อนหน้านั้นคือ วันที่ 18 ก.ค ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องไปขอความคิดเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภา   คือในวันที่ 19 ก.ค. แต่การถกเถียงก็ยังไม่ได้ข้อสรุป   ซึ่งจากการที่ได้ฟังการอภิปราย ตลอด 6 ชั่วโมง ไม่มีใครอภิปราย ว่ามีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงตัดสินใจวินิจฉัยให้ลงมติดังกล่าว   โดย 395 เสียงนั้น  คือเห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำ    จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเกิดขึ้นต่อการทำหน้าที่ 

"ข้อวิจารณ์ที่ว่า เป็นประธานรัฐสภาสามารถชี้ขาดได้ โดยไม่ต้องรอมติที่ประชุม   ถึงชี้ขาดได้ แต่ก็มีคนฟ้องได้ ไม่ใช่ไม่กล้าที่จะชี้ขาด แต่วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีข้อมูลที่จะชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้  เป็นเรื่องของข้อขัดแย้ง จึงใช้ข้อบังคับ ข้อที่ 151 การให้สภาตีความนั้นดีกว่า   ไม่ท้อใจกับเรื่องเหล่านี้   เมื่อรับหน้าที่แล้ว ก็จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ยึดหลักที่เคยพูดไปแล้ว คือ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง  ขณะเดียวกัน หากพรรคก้าวไกลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่ทำได้ และหากศาลวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินไปตามนั้น เพราะมีผลผูกพันไปทุกองค์กร  "

 

 

เขา  กล่าวว่า  การที่จะต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์  ( ทัวร์ลง) ต่อการทำหน้าที่    ใครจะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ ที่สามารถคิดแตกต่างได้ ส่วนตัวไม่มีปัญหายอมรับได้   ย้ำว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ทำด้วยความเป็นกลางแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา หากต้องตัดสินอะไร ย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย