ข่าว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ชน สว.เสรี - สางปมส่งศาลธธน.วินิจฉัยข้อบังคับ 41

ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ชน สว.เสรี - สางปมส่งศาลธธน.วินิจฉัยข้อบังคับ 41

25 ก.ค. 2566

ประชุมวุฒิสภา สว. เสรี สุวรรณภานนท์ ใส่ยับ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" กรณีส่งข้อบังคับที่ 41 โหวตซ้ำนายกรัฐมนตรี ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยติงที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการห้ามมิให้รัฐสภาประชุม ซัดไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้าน รองเลขาผู้ตรวจการแผ่นดินออกหน้าเคลียร์

ประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณารายงานของผูู้สอบบัญชี และรายงานการเงินสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและรายงาน การประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก. 2564  นายเสรี สุวรรณภานนท์   สมาชิกวุฒิสภา  ( สว. ) อภิปรายว่า อำนาจหน้าที่ของ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน"    หลังมีประเด็น  "ผู้ตรวจการแผ่นดิน"   ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย การลงมติของที่ประชุมรัฐสภา ว่าด้วยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

 

 

 

ทั้งนี้  "ผู้ตรวจการแผ่นดิน " เห็นว่าการดำเนินการของรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.  ในฐานะที่รัฐสภาเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐ และมีการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีมติให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  ทั้งยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดมาตรการ หรือวิธีการชั่วคราว เพื่อชะลอการลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

 

 

นายเสรี  สุวรรณภานนท์ สว.  อภิปรายว่า   สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องมีความชัดเจนต้องแก้ปัญหาใน 2-3 เรื่อง ตามบทบัญญัติไว้ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ คือมติรัฐสภา   การใช้อำนาจทางนิติบัญญัติเมื่อตัดสินแล้ว ต้องยุติในรัฐสภา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าสภาตัดสินวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้ว  ส่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ต้องกลั่นกรองตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรู้ความสามารถ ว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่อย่างไร

 

 


หากรัฐสภาทำงานไปแล้ว เกิดมีคนไม่พอใจหรือนักการเมืองด้วยกันเองไม่พอใจ  ยื่นเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องก็ไม่จบ     ที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอศาลรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภางดหรือหยุดการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรี ในการประชุมครั้งที่ 3   คำถามคือเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามสิทธิเสรีภาพก็สามารถยื่นได้ แต่การไปขอให้รัฐสภา งดการประชุมเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาล ทั้งที่บ้านเมืองต้องมีนายกรัฐมนตรีต้องมีรัฐบาล   นี่คือความเสียหายไม่ได้ห้ามเรื่องดุลยพินิจ แต่มองว่าสิ่งที่ห้ามมิให้รัฐสภาประชุม หรือทำหน้าที่ต่อ อันนี้ไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายฑิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงว่า    เรื่องที่นายเสรี ระบุถึง คือการส่งข้อบังคับการประชุมที่ 41 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นั้น   ยืนยันว่าองค์ประกอบครบถ้วน ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้   ส่วนข้อเสนอที่ให้ชะลอเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรี  หรือ โหวตนายกรัฐมนตรี   หากข้อบังคับที่ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หากเลือกนายกรัฐมนตรีไป ก็จะเกิดผลเสียต่อรัฐธรรมนูญจึงขอให้พิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้ด้วย และเรื่องนี้เป็น การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด