ข่าว

ย้อนภาพ ประวัติศาสตร์ 'ทักษิณ' ก้ม กราบแผ่นดินไทย

ย้อนภาพ ประวัติศาสตร์ 'ทักษิณ' ก้ม กราบแผ่นดินไทย

21 ส.ค. 2566

15 ปี ที่ลี้ภัย ย้อนภาพนาทีประวัติศาสตร์ 'ทักษิณ' อดีตนายกรัฐมนตรี ก้ม กราบแผ่นดินไทย ภาพนั้น จะฉายซ้ำหรือไม่

การประกาศกลับประเทศไทย ไม่รู้ครั้งที่เท่าไร ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในวันที่ 22 ส.ค. 2566 ซึ่งตรงกับวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่สนามบินดอนเมือง ไม่ว่าครั้งนี้จะเป็นโรคเลื่อนอีกหรือไม่ แต่ก็ทำให้ภาพความทรงจำ ที่นับเป็นภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถูกย้อนกลับมา ครั้งที่ “ทักษิณ” ก้มกราบพื้น สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อได้กลับบ้านครั้งแรก และเป็นครั้งเดียว หลังเหตุรัฐประหาร 2549

    ทักษิณ ชินวัตร

“หากผมยังมีวาสนา ผมจะขอกลับมาตายบนผืนแผ่นดินไทย เฉกเช่นคนไทยทุกคนครับ” เป็นประโยคที่ “ทักษิณ” เคยแถลงไว้ คมชัดลึก ย้อนรอยเหตุการณ์ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องลี้ภัยไปต่างแดน นานหลายสิบปี ภาพประวัติศาสตร์ ก้มกราบแผ่นดินไทย กำลังจะถูก replay กลับมาอีกครั้งหรือไม่

 

 

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะ ทำการรัฐประหารระหว่างที่เขา เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 61 ที่สหรัฐฯ

 

 

การทำรัฐประหาร ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” พ้นจากตำแหน่ง และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐประหาร ซึ่งแปรสภาพมาจาก คปค. เป็นผู้แต่งตั้ง ทำการอายัดทรัพย์ของทักษิณ และครอบครัวในประเทศไทย รวม 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เขาร่ำรวยผิดปกติขณะอยู่ในตำแหน่ง ก่อนถูกถอดยศ “พ.ต.ท.” ในปี 2558

     ภาพทักษิณ ชินวัตร ก้มกราบแผ่นดิน

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขาต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศนานกว่า 1 ปี และได้เดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรก วันที่ 28 ก.พ. 2551 ซึ่งภาพที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ก้มกราบแผ่นดินไทยในครานั้น กลายเป็นภาพหน้า 1 ของสื่อทุกสำนัก และถูกจารึกเป็นภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

 

โดยวันนั้น “ทักษิณ ชินวัตร” เดินทางด้วยเครื่องบิน TG 603 จากฮ่องกง มายังสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 09.45 น. เมื่อมาถึง เจ้าตัวได้เข้าสวมกอดครอบครัว และทักทายบุคคลที่มารอต้อนรับ ก่อนคุกเข่า และก้มกราบพื้น 1 ครั้ง ที่หน้าห้องรับรองพิเศษ พร้อมหยุดนิ่งท่าเดิม ก่อนเงยหน้าขึ้นมา ด้วยดวงตาที่แดงก่ำ

 

 

แต่เวลาแห่งความสุข ผ่านไปเพียง 5 เดือน 3 วัน “ทักษิณ ชินวัตร” ขออนุญาตศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 31 ก.ค. 2551 อ้างว่า ต้องการไปชมมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

 

ซึ่งครั้งนั้น เขาให้คำมั่นสัญญาว่า จะกลับเข้าประเทศในวันที่ 11 ส.ค. 2551 แต่นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่ได้กลับเข้าประเทศไทยอีกเลย และในวันที่ 14 พ.ย. 2551 ทักษิณ ตัดสินใจจดทะเบียนหย่ากับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่สถานกงสุลใหญ่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง หลังจากสมรส 32 ปี

   ภาพข่าวทักษิณ ชินวัตร

 

หากนับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2551 จนถึงขณะนี้ เป็นเวลา 15 ปีแล้ว ที่ ทักษิณ ชินวัตร ไม่เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก โดยเขาส่งแถลงการณ์จากประเทศอังกฤษ อ้างเหตุผลที่ไม่กลับประเทศไทย เพียงเพราะหวังว่าจะมีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ และได้รับความเป็นธรรม

 

 

ย้อนคดีลี้ภัยต่างแดน

 

 

คดีซุกหุ้น ปี 2544

 

  • คดีนี้ ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิด ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยด้วยเสียง 8 ต่อ 7 ว่า ทักษิณ ไม่ได้มีเจตนาในเรื่องดังกล่าว

 

 

คดีขายหุ้นกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปี 2549

 

  • วันที่ 23 ม.ค. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของ “ทักษิณ” ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) ซึ่งทักษิณชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับมีบุคคลบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการขายหุ้นในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกรณีดังกล่าว รวมทั้งการไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากผลกำไรในการขายหุ้น
  • ในปี 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ให้จำคุก 5 ปี ฐานแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตน

 

 

คดีที่ดินรัชดาฯ

 

  • เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาลคดีการเมืองในคดีที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงออกหมายจับ ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ในความผิดฐานประพฤติมิชอบ ในการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท และตั้งสินบนนำจับทันที โดยคดีของ ทักษิณ มีอายุความ 15 ปี ถึงวันที่ 12 ส.ค. 2566 ส่วนคดีของคุณหญิงพจมาน มีอายุความ 10 ปี ถึงวันที่ 12 ส.ค. 2561

 

 

คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร

 

  • คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ศาลออกหมายจับในวันที่ 26 ส.ค. 2558

 

ทักษิณ ชินวัตร

 

วันที่ 22 ส.ค. 2566 จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตา ก้าวแรกที่ ทักษิณ ชินวัตร เหยียบผืนแผ่นดินไทย ภาพประวัติศาสตร์ กราบแผ่นดิน เมื่อปี 2551 จะย้อนกลับมาอีกครั้งหรือไม่