ศาลรธน. อนุญาตขยายเวลา 'ก้าวไกล' ชี้แจงคดี 'ล้มล้างการปกครอง'
เฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล เผย ศาลรธน. อนุญาตขยายเวลาชี้แจงคดี 'ล้มล้างการปกครอง' ภายใน 30 วัน แจงเสนอแก้ม.112 แก้ไขไม่ใช่ล้มล้าง
ความคืบหน้ากรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล เสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้พรรคก้าวไกล ชี้แจงภายใน 15 วัน ครบกำหนด 28 ก.ค.นี้
ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าว ระบุว่า เปิดคำร้องแบบเต็ม พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหา "ล้มล้างการปกครอง" เพราะเสนอแก้ 112
"แก้ไขไม่ใช่ล้มล้าง" ประโยคนี้กำลังถูกท้าทายจากบรรทัดฐานทางกฎหมายแบบไทยๆ อีกครั้ง เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในข้อหาล้มล้างการปกครอง โดยคำร้องมีความยาวเกือบ 20 หน้า บรรยายมาอย่างละเอียดโดยอ้างถึงพฤติกรรมที่ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ การที่หัวหน้าพรรค และ สส. ของพรรคก้าวไกล มีจุดยืนและการแสดงออกต่อสาธารณะในการเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
คำร้องนี้ยกความคิดเห็นและการตีความพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล จากบุคคลหลากหลายที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา คุ้นจุดยืนกันดี เช่น แก้วสรร อติโพธิ, สนธิ ลิ้มทองกุล, สมเกียรติ อ่อนวิมล รวมถึงมีการยกคำให้สัมภาษณ์ที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้กับสำนักข่าวบีบีซี โดยมีการตัดทอนบทสัมภาษณ์ คัดเอาเฉพาะบางประโยคบางท่อนมาต่อกันเพื่อให้ดูสมกับข้อหาล้มล้างการปกครองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
คดีนี้เดิมพรรคก้าวไกลจะต้องยื่นคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ แต่ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงอีก 30 วัน เป็นวันที่ 27 สิงหาคม 2566
พรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราสามารถชี้แจงทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหาได้อย่างมั่นใจ โดยยึดหลักการว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งที่กระทำมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และจะต้องทำได้ต่อไป
เราเชื่อว่าการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ในทางตรงกันข้าม จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต