ที่มา 'สภาล่ม' เปิดสถิติ สภาล่มกี่ครั้ง อะไรทำให้ สภาอับปาง
เมื่อ องค์ประชุมสภา มีความสำคัญ แล้วทำไม 'สภาล่ม' ซ้ำซาก สมฉายา สภา 3 วันดี 4 วันไข้ ? นับตั้งแต่ปี 2565-2566 สภาล่มกี่ครั้ง
เหตุ “สภาล่ม” กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจ เพราะในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา “องค์ประชุมสภา” นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติ
“สภาล่มคืออะไร” มีอะไรเป็นองค์ประกอบ ที่ทำให้เกิด สภาล่ม ผลกระทบ สภาล่มซ้ำซาก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นับตั้งแต่ปี 2565 ล่วงมาถึงปี 2566 “สภาล่มกี่ครั้ง” คมชัดลึก รวบรวมสถิติ สภาล่มซ้ำซาก
สภาล่มคืออะไร
สภาล่ม คือเหตุการณ์ที่องค์ประชุมสภาไม่ครบถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ที่มีตำแหน่งอยู่ หรือทั้ง สส. และ สว. ในกรณีของการประชุมรัฐสภา รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 120 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2562 ข้อ 25 ระบุให้ที่ประชุมต้องมี สส. “แสดงตน” อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง เช่น หากมี สส. ทั้งหมด 500 คน ก็ต้องมีผู้แสดงตัวอย่างน้อย 250 คน หากมีการนับองค์ประชุมแล้ว จำนวนสมาชิกสภาที่แสดงตนไม่ครบตามจำนวนข้างต้น สภาก็จะไม่สามารถประชุมต่อไป โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภา จะต้องสั่งปิดประชุม
การนับองค์ประชุมสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี
- กรณีแรก ก่อนการลงมติทุกครั้ง ประธานสภาจะต้องกดออดเพื่อเรียกสมาชิกสภา ให้แสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม ซึ่งประธานสภาบางคนอาจจะเลือกที่จะรอไม่นาน แล้วนับองค์ประชุมเลย ในขณะที่ประธานบางคนอาจจะเลือกรอให้สภาชิกสภา โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมาก เดินทางมาแสดงตัวให้ทันก่อน
- กรณีที่สอง คือมี สมาชิกสภาคนหนึ่ง เสนอญัตติต่อประธานสภา ขอให้มีการนับองค์ประชุมแบบกดบัตร หรือด้วยการขานชื่อก็ได้ ทั้งนี้ การนับองค์ประชุมด้วยการกดบัตร มักจะเร็วกว่า และทำให้สมาชิกสภาที่กำลังเดินทางมาแสดงตน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล อาจจะมาไม่ทันการนับองค์ประชุม
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประธานสภาสั่งปิดประชุมเอง โดยที่ยังไม่ได้มีการนับองค์ประชุม หากเห็นว่าจำนวนสมาชิกสภาที่อยู่ในห้องประชุมนั้นบางตา
สภาล่มกี่ครั้ง
สถิติการประชุมสภาฯ ครั้งแรกของปี 2565 คือ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2565 จนถึงครั้งล่าสุด วันที่ 4 ม.ค. 2566 พบว่า 1 ปี มีการประชุมสภา 48 ครั้ง สภาล่ม 14 ครั้ง ทั้งนี้ ข้อมูลนี้ ไม่รวมการประชุมรัฐสภา (สส.-สว.)
19 ม.ค. 2565
- ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ
- องค์ประชุม 226 คน จากจำนวน สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 473 คน
21 ม.ค. 2565
- รายงานผลการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยฯ ประธานในที่ประชุม (สุชาติ ตันเจริญ)
- สั่งปิดประชุมก่อน ด้วยเหตุผลมีเสียงคัดค้าน และจำนวนสมาชิกในห้องประชุมบางตา
2 ก.พ. 2565
- ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ
- องค์ประชุม 234 คน จากจำนวน สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน
4 ก.พ. 2565
- รายงานผลการพิจารณาศึกษา ผลกระทบ-แนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยฯ
- องค์ประชุม 195 คน จากจำนวน สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 คน
10 ก.พ. 2565
- ขอนับองค์ประชุมก่อนเข้าสู่วาระรับทราบรายงานประจำปี 2562 กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฯ
- องค์ประชุม 227 คน จากจำนวน สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 คน
11 ส.ค. 2565
- ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม ฝ่ายค้านเสนอญัตติด่วน อภิปรายวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
- องค์ประชุม 124 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 478 คน
4 พ.ย. 2565
- รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติศึกษาสอบหาข้อเท็จจริง กรณีการปิดอ่าวมาหยา จ.กระบี่
- องค์ประชุม 181 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 476 คน
23 พ.ย. 2565
- ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ เกิดปัญหาจะนับองค์ประชุมใหม่ แต่มีผู้คัดค้าน ประธานในที่ประชุม (ชวน หลีกภัย) สั่งปิดประชุม ไม่มีบันทึกองค์ประชุม
7 ธ.ค. 2565
- ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ
- องค์ประชุม 236 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 473 คน
1 ธ.ค. 2565
- ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ
- องค์ประชุม 222 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 474 คน
14 ธ.ค. 2565
- ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ
- องค์ประชุม 243 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 471 คน มีการขอให้ตรวจสอบองค์ประชุม (ขณะพิจารณามาตรา 3)
21 ธ.ค. 2565
- ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ
- องค์ประชุม 213 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 439 คน (ขณะพิจารณามาตรา 7/4)
4 ม.ค. 2566
- ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ
- องค์ประชุม 204 คน จาก สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 436 คน
4 ส.ค. 2566
- ประชุมสภา วาระถกยกเลิก ม.272
- องค์ประชุมครบ 374 คน แต่สุดท้าย ประธานสภา (วันมูหะหมัดนอร์ มะทา) สั่งปิดการประชุม ไล่หลังเพียง 1 ชั่วโมง หลังมีข้อถกเถียงกัน จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แต่อย่างใด
ผลกระทบสภาล่มซ้ำซาก
ข้อมูลจาก ILAW ระบุว่า ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายหรือมติต่างๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า หากมีการอภิปรายร่างกฎหมาย และเมื่อถึงเวลาแสดงตนเพื่อลงมติแล้ว สส. แสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะต้องยกยอดการลงมติไปในการประชุมครั้งต่อไป รวมถึงลำดับของร่างกฎหมายที่จะได้พิจารณาต่อ ก็ต้องช้าตามกันไปด้วย
ขณะที่นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย เคยกล่าวไว้ เมื่อครั้งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ว่า เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะการประชุมสภาแต่ละสัปดาห์ สภาต้องจ่ายเงินให้กับสมาชิกที่เดินทางมาประชุมเป็นเงินจำนวนมาก ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร และค่าใช้จ่ายของสภาด้วย ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้ไม่คุ้มค่า และไม่สามารถทำงานได้