ข่าว

เลขาธิการ รทสช. บอกไม่จำเป็นที่ 1ได้ตั้งรัฐบาล ขอกองเชียร์รับฟังพรรคอื่น

เลขาธิการ รทสช. บอกไม่จำเป็นที่ 1ได้ตั้งรัฐบาล ขอกองเชียร์รับฟังพรรคอื่น

05 ส.ค. 2566

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ไม่จำเป็นพรรคได้คะแนนที่หนึ่งต้องตั้งรัฐบาล ขอกองเชียร์ควรยอมรับฟังข้อเสนอของพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย

 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ด้วยความเคารพ เสียงของประชาชนคนไทยตามระบอบประชาธิปไตย” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติด้วยเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นกระบวนการการหยั่งเสียงในระบอบประชาธิปไตย และหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยก็ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2562 และล่าสุดในปี 2566

 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

การที่พรรคการเมืองสามารถออกมานำเสนอจุดยืน พูดอย่างเปิดเผยบนเวที ออกสื่อได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าเนื้อหาจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าการเลือกตั้งนั้นเสรีและเป็นธรรม (Free and Fair) ไม่ได้ถูกปิดกั้นแต่อย่างใด เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

แต่กองเชียร์เอง ก็ต้องยอมรับฟังข้อเสนอของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สะท้อนความต้องการที่หลากหลายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

การออกมาคุกคามบูลลี่คนที่เห็นต่างผ่านสื่อฯ บีบบังคับให้สังคมต้องบิดเบี้ยวไปตามความต้องการของตัวเอง อาจบานปลายกลายเป็นการคุกคามละเมิดสิทธิของคนอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

วันนี้ การเลือกตั้งสส.ที่เป็นประชาธิปไตยก็จบไปแล้ว พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง ได้จำนวนสส. 151 คน พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับสอง ได้จำนวนสส. 141 คน และมีพรรคอื่นๆรวมแล้ว ได้จำนวนสส. อีก 208 คน รวมทั้งหมดเป็น 500 คน

พรรคก้าวไกล เป็นพรรคอันดับหนึ่งก็จริง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นเสียงข้างมากที่จะโหวตนายกฯหรือตั้งรัฐบาลได้ในระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบรัฐสภา

ข้อความของนายเอกนัฎ

ระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ที่นานาประเทศใช้กัน สรุปง่ายๆ มีสองระบบ คือระบบประธานาธิบดี (Presidential System) เป็นการการเลือกผู้นำของประเทศโดยตรง และอีกระบบคือระบบรัฐสภา (Parliamentary System) เป็นการเลือกตั้งสส. จากพรรคการเมืองแล้วให้สส. กับพรรคการเมืองไปเลือกผู้นำประเทศและตั้งรัฐบาลต่อไป
 
ระบบของไทยโดยหลักแล้วเป็นระบบรัฐสภา แต่เนื่องจากมีข้อกำหนดต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก่อนการหาเสียงเลือกตั้ง จึงเสมือนเป็นระบบผสมหรืออาจจะเรียกว่าเป็น Hybrid System ก็น่าจะได้ ซึ่งอาจจะทำให้คนสับสนนึกว่าเป็นการไปเลือกแคนดิเดตนายกฯโดยตรง

อันที่จริงแล้ว ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในกติกาว่าแคนดิเดตนายกฯของพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และในระบบรัฐสภาที่เป็นสากลก็ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในกติกาว่าพรรคอันดับหนึ่งจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากแต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะให้โอกาสพรรคอันดับหนึ่งไปดำเนินการก่อนเท่านั้น

ขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่ให้สว. เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นผลพวงของคำถามเพิ่มเติม ที่ผ่านการทำประชามติเมื่อปี 2559 ด้วยเสียงถึง 15.1 ล้านเสียง หรือคิดเป็นสัดส่วน 58% ของผู้ที่ไปลงคะแนน

พอใจ หรือไม่พอใจ แต่ก็ผ่านการทำประชามติ ซึ่งถือเป็นการหยั่งเสียงด้วยเสียงส่วนมากของคนทั้งประเทศ เปรียบเทียบได้กับกรณีการทำประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักร ที่ฝ่าย Leave เอาชนะ ฝ่าย Remain เพียงนิดเดียว 52% ต่อ 48% ถึงแม้ว่าการตัดสินใจนั้นจะสร้างความแตกแยกทางความรู้สึกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม ด้วยความเคารพต่อเสียงส่วนมากในระบบการหยั่งเสียงในระบอบประชาธิปไตย

มาวันนี้ในประเทศไทย.. การใช้เสียงในรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ถือเป็นขั้นตอนการเลือกผู้นำในระบบรัฐสภา ผลออกมาอย่างไร รูปร่างหน้าตาออกมาแบบไหน พอใจหรือไม่พอใจ ก็เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ควรมีน้ำใจนักกีฬา ให้ความเคารพต่อเสียงส่วนมากของประชาชนและการตัดสินใจของผู้แทนราษฎรในสภาที่มาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน