ข่าว

'เพื่อไทย' ดูดดื่ม 'ภูมิใจไทย' - อธิบาย 'ไล่หนูตีงูเห่า' แค่กุศโลบายหาเสียง

'เพื่อไทย' ดูดดื่ม 'ภูมิใจไทย' - อธิบาย 'ไล่หนูตีงูเห่า' แค่กุศโลบายหาเสียง

07 ส.ค. 2566

หัวหน้าพรรค "เพื่อไทย" อธิบายความหมาย " ไล่หนูตีงูเห่า" ก็แค่เรื่องพื้น ๆ แค่หาเสียงกับการเลือกตั้งระหว่างสองพรรค เมื่อเลือกตั้งจบก็จบ เลิกแล้วต่อกัน ไม่มีอะไรที่ต้องตะขิดตะขวงใจ มั่นใจการดีด "ก้าวไกล" ออกจากสมการ แล้วดึง "ภูมิใจไทย" เข้ามา มีโอกาสเห็นแสงสว่างมากกว่า

นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย   แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย   โดยมีผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยร่วมด้วย   ทั้งนี้นายแพทย์ชลน่าน  ระบุว่า  ในการณรงค์หาเสียง "เพื่อไทย" เคยรณรงค์ว่า  " 
"ไล่หนูตีงูเห่า "    ซึ่งหมายถึงการที่พรรคเพื่อไทย  ต้องการกดดันในทางการเมืองต่อ พรรคภูมิใจไทย  เพื่อให้ได้เสียงจากประชาชน  ระหว่างการรณรงค์หาเสียง  เรื่องดังกล่าวอาจจะทำให้สังคมรู้สึกว่าเกิดการกระทั่งกันบ้างระหว่างสองพรรค   แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เป็นการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง ถือเป็นเทคนิค  หลังเลือกตั้งจบก็คือจบ   พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดว่าใครเป็นศัตรู แต่เป็นเพียงคู่แข่งเท่านั้น 

 

 


สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัด ไม่ได้ยึดเสียงประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากมีสมาชิกวุฒิสภา ( สว. ) มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้เป็นเงื่อนไขหลักในการตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลไม่ได้ เพราะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. ที่ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น การที่ "เพื่อไทย" จับมือกับพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นพรรคอันดับที่ 3   เสียงจากพรรคภูมิใจไทย และเสียงจากพรรคการเมืองอื่นเกินกึ่งหนึ่งถือเป็นความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล และเชื่อว่าโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทยมีโอกาสประสบผลสำเร็จ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า  ยืนยันจะไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จากนี้ไปทั้งสัปดาห์จะได้เห็นภาพการร่วมมือกันของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเพิ่มเติม  การตั้งรัฐบาลในภาวะวิกฤติเช่นนี้  ต้องหาเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุด แต่ก็คำนึงถึงเสียงและความรู้สึกของประชาชนไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง และการตั้งรัฐบาลเพื่อฝ่าวิกฤติไปให้ได้ ถือเป็นสิ่งที่ควรมอง  ในขณะนี้พยายามทำบนเงื่อนไขที่ประชาชนต้องการ และความเป็นจริงของการเมืองไทยที่เป็นอยู่ การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เริ่มต้นด้วยพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการทำให้รู้สึก ว่าการร่วมมือกับพรรคภูมิใจไทย   จนทำให้มี 212 เสียง เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้