ข่าว

'ศาลรัฐธรรมนูญ' ไม่รับคำร้อง ปมเสนอชื่อ 'พิธา' เป็น นายกรัฐมนตรี ซ้ำ

'ศาลรัฐธรรมนูญ' ไม่รับคำร้อง ปมเสนอชื่อ 'พิธา' เป็น นายกรัฐมนตรี ซ้ำ

16 ส.ค. 2566

ด่วน 'ศาลรัฐธรรมนูญ' มีมติ ไม่รับคำร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมเสนอชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' เป็น นายกรัฐมนตรี ซ้ำ

หลังศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณา กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ตีความการเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำได้หรือไม่ ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้อง ปมเสนอชื่อพิธา โหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 

 

 

 

 

 

ในประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณา กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติตีความว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่ 2 เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง, มาตรา 5 วรรคหนึ่ง, มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 27 หรือไม่

 

นอกจากนี้ ยังมีคำขอให้ชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยเป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 ภายหลังเห็นว่า คำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีประเด็นเชิงหลักการ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่งรับคำร้อง และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา

 

 

 

 

 

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้อง ได้ชี้แจงถึงผู้ร้องที่ผู้ตรวจฯ อ้างถึง 3 ราย ว่าเป็นประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภา

โดย ผลการพิจาณา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นเป็นอันตกไป

 

 

 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น 

 

 

 

ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา ต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก่อตั้งขึ้นเป็นหลักการใหม่ของการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวดที่ 3 เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว

 

 

ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้

 

 

 

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

 

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ