เลขา กกต. แจงคดี ม. 151 ‘พิธา’ ยังไม่จบ ต้องพิสูจน์เจตนา
เลขา กกต. รับ เลือกตั้งซ่อมระยอง เวลาน้อย แต่มั่นใจไร้ปัญหา แจงคดี ม. 151 ‘พิธา’ ยังไม่จบ ต้องพิสูจน์เจตนา หากไม่มีเจตนาก็ไม่ผิด เผยคดียุบพรรคการเมืองเหลืออีก 24 เรื่องที่ต้องพิจารณา
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งซ่อม สส. จังหวัดระยอง เขต 3 ว่าใช้ฐานข้อมูล จำนวนประชากรเดิมจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา มาเป็นแนวทางการจัดการเลือกตั้ง โดยยอมรับว่าเวลาจากการเลือกตั้งอาจจะน้อยแต่จะไม่กระทบต่อการบริหารจัดการเลือกตั้ง โดยจะมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ด้วยกังวลว่าประชาชนเพิ่งผ่านการเลือกตั้งไปไม่นาน แล้วจะทำยังไงให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากขึ้น
สำหรับผู้สมัครที่มี 2 คน เป็นการแข่งขันมีลักษณะเป็นขั้วการเมือง จะมีปัญหาหรือไม่ นายแสวงระบุว่า การแข่งขันเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการสมัครลงรับเลือกตั้งกี่คน จะมายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการ หากมีการแข่งขันเพียงสองคนก็จะเป็นเรื่องของการเมือง โดยย้ำที่จะทำกติกาเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และยอมรับว่าทุกการเลือกตั้งก็จะมีการกล่าวอ้างเรื่องของปัญหาการใช้อำนาจรัฐ แต่ช่วงนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะเป็นเช่นเดียวกับรัฐบาลทั่วไปแต่ ที่ผ่านมาไม่มีข้อคอรหาเรื่องการใช้อำนาจรัฐ ยืนยันจะดูแลการแข่งขันให้เป็นไปโดยความเสมอภาค และตอนนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนใดเข้ามา เนื่องจากเพิ่งสมัครรับเลือกตั้ง คาดว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าสนามเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการวัดพลังกันทางการเมืองหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามถึงคดีที่มีการร้องยุบพรรคการเมืองไปมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง เลขาธิการ กกต. ระบุว่ามีคำร้อง 135 เรื่อง พิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว 111 เรื่อง ตอนนี้เหลืออยู่ 24เรื่อง ประมาณ 10 พรรคการเมือง ส่วนมากเป็นพรรคการเมืองใหญ่
ส่วนคำร้อง เกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกล เหตุนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มอบสำนักงาน กกต.ตรวจสอบ นายแสวง ระบุว่าสำนักงาน กกต. ดูแลข้อกฎหมาย ในฐานะกำกับดูแลพรรคการเมือง ยังไม่ได้มีการรายงานขึ้นมา
ส่วนกรณีคำถามจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลฝากคำถามไว้ยัง กกต. ในคดีอาญา เลขาธิการ กกต. บอกว่ามีกระบวนการตาม มาตรา 151 ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร โดยเฉพาะจะต้องดูที่เจตนา หากไม่มีเจตนาก็ไม่มีความผิด จะต้องพิสูจน์เจตนาเนื่องจากเป็นคดีอาญา และคำร้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนอยู่ กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ หากแต่เข้าข่ายการให้คุณให้โทษก็จะต้องมีการเชิญมาชี้แจง แต่เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลและปรากฏในเอกสารราชการอยู่แล้ว โดยบอกว่าไม่ทราบกรณีในชั้นอนุเสนอให้ยกคำร้องไป
สำหรับเรื่องกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ กกต. พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกฏหมายมีอยู่ 3 สาเหตุที่จะทำให้พ้นจากตำแหน่งกรณีถือหุ้นสื่อมวลชน โดย 2 ลักษณะแรกมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วเป็นแนวทาง ขณะที่ในกรณีนี้มีข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างกัน และ กกต. ไม่ใช่คนตัดสินคนที่ตัดสินคือศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้นายแสวง กล่าวถึงข้อเสนอแนะการเสวนาหัวข้อ “ กกต.มีไว้ทำไม” ว่า ข้อเสนอตรงกับใจและโจทย์ กกต. ที่มีอยู่ ตามข้อสรุปที่ว่าต้องการให้ กกต. เป็นของประชาชน โดยกล่าวทิ้งท้ายว่าจะพยายามดำเนินการไปให้ถึงข้อเสนอแนะนั้น