เปิดคดี 'ทักษิณ' หาก 'กลับไทย' ต้องรับโทษ 3 คดี จำคุกรวม 10 ปี
เปิดคดี 'ทักษิณ' หาก 'กลับไทย' ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รับโทษ 3 คดี 'หวย 2-3 ตัว-ปล่อยกู้ EximBank-หุ้นชินฯ' โทษจำคุกรวม 10 ปี
19 ส.ค. 2566 หลังจากก่อนหน้านี้ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยในวัน 10 ส.ค. 2566 หลายหน่วยงานก็เตรียมความพร้อมในการรับตัว เนื่องจาก "ทักษิณ" ยังมีคดีติดตัวที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อถึงเวลา "ทักษิณ" ไม่ได้เดินทางกลับไทยแต่อย่างใด
ล่าสุด ( 19 ส.ค. 2566) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของทักษิณ ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านสตอรี่อินสตาแกรมส่วนตัวอีกครั้งถึงความคืบหน้าในการเดินทางกลับประเทศของ "ทักษิณ" โดยระบุว่า "อังคารที่ 22 ส.ค. 9.00 น. ณ ดอนเมือง จะไปรับคุณพ่อทักษิณ"
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรับ "ทักษิณ" กลับประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้าประชุม อาทิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์, เจ้าหน้ากองการต่างประเทศ, เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.), หน่วยต่อต้านก่อการร้ายสากล, กองบังคับการสืบสวนสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.), กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1), กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางที่ขบวนรถที่คุมตัว "ทักษิณ" วิ่งผ่านเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ หาก "ทักษิณ" กลับไทยจริงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับโทษมี 3 คดี
1. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่รู้จัก ในคดี "หวยบนดิน"
-คดีดังกล่าว ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก "ทักษิณ" 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
2. คดี "ทักษิณ" สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
-คดีดังกล่าว ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
3. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100
-คดีดังกล่าว ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
นอกจาก "ทักษิณ" ยังมีคดีอื่นๆทั้งที่คดีถูกยกฟ้อง ไม่ชี้มูล และรอรื้อคดี รวม 6 คดี
1. คดี "ทักษิณ" อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI
-คดีดังกล่าว ศาลฎีกาฯได้ยกฟ้อง จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนยกฟ้องตามเดิม
2. คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร วงเงิน 11,585 ล้านบาท
-ศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้อง "ทักษิณ" จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้สั่งการคือ "ทักษิณ" พร้อมทั้งเพิกถอนหมายจับในคดีนี้ ขณะที่จำเลยคนอื่น ๆ ถูกตัดสินจำคุกรวมกว่า 860 ปี
3. คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญา สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือที่เรียกว่าคดีข้าวจีทูจีล็อต 2 โดย ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา "ทักษิณ" เพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่า "ทักษิณ" มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค แต่เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2565
-คดีดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิด "ทักษิณ" และยกคำร้อง
4. คดีกล่าวหา "ทักษิณ" กับพวกอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส แบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
-คดีดังกล่าว ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิด "ทักษิณ" และยกคำร้อง
5. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุล ณ ขณะนั้น) ภริยาทักษิณ ในการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551
-คดีดังกล่าว ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะตัดสินโทษ "ทักษิณ" ไม่มารับฟังคำตัดสินและได้หลบหนีออกนอกประเทศโดยอ้างว่าเดินทางไปดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน
-ศาลฯจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง สั่งตัดสินจำคุก "ทักษิณ" 2 ปี และออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 เพื่อให้นำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา ขณะนี้คดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
6. คดีกองทัพบก ยื่นฟ้อง "ทักษิณ" หมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค. 2558 ซึ่งได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของ "ทักษิณ" จากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกระทบถึง กองทัพบก
-คดีนี้ศาลอาญาออกหมายจับ "ทักษิณ" เนื่องจากไม่มาศาลเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจะขอรื้อคดีขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ตามหาก "ทักษิณ" กลับประเทศไทยจริงในวันที่ 22 ส.ค. 2566 "ทักษิณ" จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยต้องรับโทษ 3 คดี ซึ่งถูกตัดสินจำคุกรวม 10 ปี