'ปชป' เตรียมสอบ 16 สส. แหกมติพรรค โทษหนักสุดขับออก
'จุรินทร์' สั่งกลุ่ม 16 สส. โหวตสวนมติพรรค เข้าชี้แจงพร้อมเตรียมสอบสวนหากสมาชิกพรรคร้องขอ ด้าน 'สาธิต' ซัดทำพรรคเสื่อมเสีย-แตกแยก โทษหนักสุดขับออก
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นขอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ 16 สส. ที่โหวต "เห็นชอบ" นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งเป็นการสวนมติพรรค ที่เห็นพ้องจะ "งดออกเสียง"
นายจุรินทร์ ยอมรับสั่งให้ สส. กลุ่มดังกล่าวชี้แจงในที่ประชุม สส. ในการประชุมครั้งหน้า และหากมีสมาชิกเข้าชื่อกันร้องให้ตรวจสอบ หรือสอบสวนตามข้อบังคับพรรค ตนก็จะดำเนินการตามนั้น แม้ว่าการโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ข้อบังคับพรรคก็มีอยู่ และ 16 สส. ไม่ได้แจ้งเหตุผลล่วงหน้า และตนเองก็ไม่ทราบ
พร้อมยืนยันในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ในนามพรรคไม่เคยมอบใครไปเจรจาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้นจนถึงขณะนี้
นายจุรินทร์ ขอให้ไปถาม 16 สส. ที่โหวตเห็นชอบ ต้องการเข้าร่วมรัฐบาลหรือโหวตให้เฉยๆ แต่อย่างไรก็ตามต้องไปชี้แจงในที่ประชุม สส. หรือถ้ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนก็ต้องไปชี้แจงกับกรรมการว่าเป็นอย่างไร
"สิ่งหนึ่งที่ผมขอเรียนตรงนี้ ก็คือ ประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี เราเคยเป็นทั้งรัฐบาล เคยเป็นทั้งฝ่ายค้าน จะเป็นอะไรก็เป็น ไม่มีปัญหา แต่เราไม่เคยไปเป็นพรรคอะไหล่ ผมคิดว่าเราชัดเจนในเรื่องนี้” รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ส่วนจะส่งผลต่อการเลือกหัวหน้าพรรคหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตอบล่วงหน้าไม่ได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องอยู่ สำหรับตนนั้นความเป็นพรรคสูงสุด นอกเหนือไปจากหน้าที่ที่เราจะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน พรรคก็ต้องอยู่เพราะพรรคเป็นองค์กร
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า การดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ทำให้พรรคเสื่อมเสีย หรือ ไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณพรรค ก่อให้เกิดการแตกแยก ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกมากกว่า 20 คน เตรียมส่งหนังสือขอให้นายจุรินทร์ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพราะชัดเจนพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการตั้งบุคคลไปเจรจาร่วมรัฐบาล การเข้าร่วมรัฐบาลจะต้องมีการทำหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ดังนั้นการดำเนินการของพรรคการเมืองมีขั้นตอนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือรักษาการที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรงและได้รับมอบหมายจากพรรค ถ้าไปปฏิบัติอื่นอำนาจหน้าที่และทำให้พรรคเสื่อมเสีย เพราะขณะนี้ตามระบบ พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านไปแล้วเพราะรัฐบาลได้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคไปเป็นที่เรียบร้อย สิ่งเหล่านี้ต้องจัดการภายในของพรรค
ส่วนใครจะเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจาก ผู้โหวตเห็นชอบนายเศรษฐาส่วนใหญ่เป็นกรรมการบริหารพรรค นายสาธิต ระบุว่า ในข้อบังคับพรรคมีเขียนระบุไว้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ทำอะไรอย่างไร เมื่อเห็นว่าความประพฤติของสมาชิกบางท่าน เช่นการเดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนแรกบอกไม่ได้ไป แต่กลับยอมรับในรายการทีวีว่าเดินทางไปจริง ถือว่าทำให้เกิดความเสียหายกับพรรค พฤติการณ์แบบนี้เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม
นายสาธิต ยอมรับว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นเอกสิทธิ์สส. ตามรัฐธรรมนูญ แต่มติของพรรคก็ถือว่ามีความสำคัญ ไม่ผิดในแง่ สส. แต่ผิดทำให้พรรคเสื่อมเสีย
ทั้งนี้นายสาธิตเป็น 1 ในคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ 16 สส. เมื่อถามว่าจะเป็นผู้ริเริ่มให้ตรวจสอบหรือไม่นั้น ขณะนี้มีคนทำแล้ว มีคนเข้าชื่อเกิน 20 คนแล้ว เพราะเห็นว่า การนำ สส. ใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ไปร่วมด้วยจะมีปัญหา เป็นสิทธิของสมาชิกพรรคที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้วว่าใครเป็นแกนนำ ทั้งเรื่องพูดขากลับไปกลับมา ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับมอบหมาย
ส่วนที่ 16 สส. โหวตให้นายเศรษฐา ถือเป็นการเข้าร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า จะต้องผ่านที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคร่วมกับ สส.ก่อน เมื่อวานนี้ เป็นการโหวตนายกรัฐมนตรี แต่มติในการเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทุกคนเข้าใจถึงข้อบังคับดี
เมื่อถามว่าสรุปแล้วมติพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเอกสิทธิ์หรืองดออกเสียง นายสาธิต ระบุว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ แต่ในขั้นตอนของพรรคเมื่อมีการประชุมและเป็น มติ สส. ก็ควรจะปฏิบัติตาม
ถ้าถามว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิดเพราะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดคุ้มครอง แต่การกระทำที่เมื่อมีการประชุมแล้ว กลับไปลงมติอีกอย่าง ก็สร้างความแตกแยกและความเสียหายต่อพรรค ส่วนจะถึงขั้นขับออกจากพรรคหรือไม่ ก็พิจารณาตามความหนักเบา แต่ส่วนตัวมองว่า "หนักมาก" ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและ สส. และข้อบังคับว่าว่าจะต้องทำอย่างไร
ในที่ประชุมพรรค สส. 25 คน แต่มี 16 สส.ไม่ยึดตามมติพรรค ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ เพราะที่ผ่านมาพรรคมี สส. เยอะในอดีต แต่พอได้ สส. ลดลง ข้อบังคับจึงไม่ทันสมัย สอดคล้องกับที่ตนเคยเสนอสัดส่วน 70:30 เพราะพรรคเล็กทำให้ สส. มีอำนาจมากกว่าองค์ประชุม แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า กรรรมการบริหารส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจความเสียหาย
สำหรับการทำงานฝ่ายค้าน ที่พรรคก้าวไกลอาจจะไม่ได้รับเป็นผู้นำฝ่ายค้านนั้น ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนั้นก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและต้องเป็นไปตามข้อบังคับของสภาว่าผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถ้าจำไม่ผิด เข้าใจว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในฝ่ายค้าน แล้วก็จะต้องไม่มีสมาชิกไปเป็นประธานสภา หรือรองประธานสภา