กลุ่ม สส.ประชาธิปัตย์ แจง 'งดออกเสียง' ไม่ใช่มติพรรค
กลุ่ม สส.ประชาธิปัตย์ ชี้แจงเหตุผล โหวต 'เศรษฐา' เผย 'งดออกเสียง' ไม่ใช่มติพรรค สส.ยุคใหม่ ไม่เอาความขัดแย้งในอดีตมาเป็นอคติ ยินดีลาออกทันที หากรู้สึกทรยศ ปชช.
กลุ่ม สส.ประชาธิปัตย์ รวมตัวแถลงข่าวชี้แจงกรณีโหวตสวนมติให้ เห็นชอบ "นายเศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคฯ ดูแลภาคใต้ ระบุว่า ในที่ประชุม สส.พรรค เมื่อวันที่ 21 ส.ค. มีทั้งความเห็นไม่เห็นชอบ เห็นชอบ และงดออกเสียง
ส่วนที่ "ไม่เห็นชอบ" สส.อาวุโส เห็นว่าเป็นเพราะความขัดแย้งในอดีต แต่ สส.รุ่นใหม่ ได้โต้แย้ง เพื่อขอให้แยกหน้าที่ สส.และความแค้นในอดีต เพื่อไม่ให้เป็นอคติตลอดไป จน สส.รุ่นใหญ่ออกจากห้องประชุม
ส่วนหนึ่งให้ความ "เห็นชอบ" เพราะปัจจุบัน ประเทศประสบปัญหา ที่ไม่สามารถปล่อยให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองได้
และยังมีกลุ่มที่ส่วน "งดออกเสียง" ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ จึงขอให้ที่ประชุมลงมติ เพื่อเป็นมติพรรคฯ ก่อนจะปิดประชุมไป
สำหรับการประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. ได้ฟังภาพรวมการอภิปรายแล้ว ก็สามารถยอมรับในเศรษฐศาสตร์ได้เพราะมีปัญหาเพียงเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และได้พิจารณาการลงมติของนายจุรินทร์ ที่งดออกเสียง นายชวน และนายบัญญัติ ที่ไม่เห็นชอบ ซึ่งแตกต่างกัน จึงเห็นว่าการลงมติดังกล่าวไม่ใช่มติพรรคแล้ว เพราะหากเป็นมติพรรค จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่สามารถขอยกเว้นได้
พวกตนได้พิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งพรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงข้างมากได้ และมีแนวคิดการเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งในอดีต ประเทศชาติต้องเดินหน้า จึงสนับสนุนนายเศรษฐา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
นายเดชอิศม์ ยืนยันว่า กลุ่มที่โหวตสวนมติพรรค ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศ หากรู้สึกทรยศประชาชน พร้อมลาออกทันที
แม้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ยังมีศักดิ์ศรีความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่เปิดโอกาสให้นายเศรษฐา เข้ามาทำหน้าที่ไม่กระเหี้ยนกระหือรือไปร่วมรัฐบาล เพราะต้องมีเทียบเชิญอยากทางการก่อน
ส่วนการขอให้ตรวจสอบตน กรณีทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตรที่ต่างประเทศ มองว่า เป็น สส. ยุคใหม่ แยกหน้าที่กับความโกรธแค้น ไม่ผูกพันกับความรัก เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงกับอคติ หากการเดินทางไปพบคนต่างพรรค ตนคงมีโทษประหารไปแล้ว เพราะตนสนิทกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค
ส่วนโทษการสวนมติพรรคจะถึงขั้นขับออกหรือไม่นั้น จะต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของ สส. ร่วมกับ กรรมการบริหารพรรค ก็ไม่มั่นใจ ใครขับใครกันแน่ เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่แถลงข่าวตรงนี้เกือบทั้งหมด
นายเดชอิศม์ ระบุ ส่วนตัวตนเองไม่ได้คิดจะขับใครออกจากพรรค พร้อมเจรจาพูดคุยบนเหตุผลและความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการพูดคุยใดๆ พร้อมยอมรับพรรคไม่มีความเป็นเอกภาพ ล่มตั้งแต่การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายและไม่ทราบจะเลือกอีกเมื่อไร ต้องไปถามกลุ่มคนบางกลุ่มที่ทำให้องค์ประชุมล่ม
สำหรับสถานการณ์พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาทำงานร่วมกันเหมือนเดิมได้หรือไม่ ต้องเริ่มจากการประชุมวิสามัญฯ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ได้ ประชุมครบองค์และแข่งขัน ถือเป็นเรื่องปกติของพรรค แม้พวกตนจะแพ้ ก็ยังพร้อมให้ความร่วมมือเป็นลูกพรรคที่ดี เหมือนการเลือกเมื่อปี 2562 ตนไม่ได้เลืแกนายจุรินทร์ แต่พร้อมร่วมงานด้วย ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก เพียงแต่ความคิดเห็นยังไม่ตรงกัน ยังพอมีเวลาที่พูดคุย ลดทิฐิ รับฟังกัน