เปิดตัวที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โชกโชนในแวดวง 'ทหาร'
ถูกปรามาส ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 'กลาโหม' แต่ที่ปรึกษา 'สุทิน คลังแสง' ล้วนมากประสบการณ์ทาง 'ทหาร'
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุทิน คลังแสง จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เรื่องความเหมาะสมในการทำหน้าที่ จากอดีตครู สู่กระทรวงคชสีห์ จะมีความสามารถพอหรือไม่ แต่หากพลิกดูรายชื่อ ที่ปรึกษา ซึ่งเจ้าตัวบอกผู้สื่อข่าวไว้ ดูแล้วไม่ธรรมดา เพราะมีทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตปลัดกระทรวงฯ และ อดีตแคนดิเดตผู้บัญชาการทหารอากาศและอดีตแม่ทัพภาค 4
โดยเมื่อวานนี้ได้เข้าพบ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเคยรับราชการทหาร สังกัดกองทัพบก เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร เป็นผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเพชรบุรี เป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นตำแหน่งสุดท้าย
พล.อ.ธรรมรักษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ถึงปี พ.ศ. 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
เคยถูกศาลอาญาสั่งจำคุก 3 ปี 4 เดือนไม่รอลงอาญา ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ในความผิดฐานเป็นผู้ใช้เจ้าพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ต่อมาคดีได้ถูกยกฟ้องเนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดๆที่แสดงว่าพลเอกธรรมรักษ์มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆและศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบและถึงที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีพล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นบุคคลที่ ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น วางตัวจะให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ด้วยเหตุว่าเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารด้วยกันมา แต่ทว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
มีการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาในกองทัพใหม่ ทำให้นายทหารรุ่นเตรียมทหาร 10 หลายคนต้องหลุดจากตำแหน่งคุมกำลังพล ในส่วนของ พลอากาศเอกสุกำพล ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ ในปี พ.ศ. 2550 และปรับเปลี่ยนเป็นจเรทหารทั่วไป ในปี พ.ศ. 2551
เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 ได้ปรับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเป็นผู้ดำเนินการถอดยศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเป็นเหตุให้นำไปสู่การยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์
พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรีเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จบ ตท.9 - จปร.20 รุ่นเดียวกับ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีต ปธ.ที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นต้น ในฝั่งตำรวจที่จบ ตท.9 คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เริ่มต้นชีวิตราชการที่ ร.1 พัน 2 รอ. ก่อนลงไปอยู่ภาคใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์ปราบกบฏ 26 มี.ค. 2520 เป็น แม่ทัพภาคที่ 4 จนเกิดเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ชีวิตราชการของ พล.อ.พิศาล ต้องพลิกผันจากเหตุการณ์ตากใบ
โดนเด้งเข้ากรุไม่ได้คุมกำลัง ไปช่วยราชการที่ บก.ทบ. จากนั้นไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในอัตราพลเอก ก่อนเกษียณฯ
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก จบ เตรียมทหาร 14 นายร้อย จปร. รุ่น 25 เริ่มต้นชีวิตราชการ ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ก่อนจะมาเติบโตสายอำนวยการ-ยุทธการเป็นอาจารย์ วิชาข่าวกรอง ร.ร.เสนาธิการทหารบก และข้ามมาเติบโตเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีคำสั่งโดนย้ายไปประจำสำนักนายกฯ ก่อนมาเป็น ปธ.คณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บทบาทสำคัญช่วงก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 เขานำผู้นำเหล่าทัพเข้าอวยพรวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. 21 มี.ค. 2557 ก่อนรัฐประหาร 2 เดือน เพื่อรักษาบรรยากาศ
มีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร14 เช่นพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตรมช.กลาโหม / ผบ.ทบ. พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตผบ.ทบ. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และพล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่