เปิดคำวินิจฉัย 'พัชรวาท' คดีสลายชุมนุมพันธมิตร ชี้ชัด ขัดความเป็น รมต.?
เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัว 'ชำนาญ รวิวรรณพงษ์' องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ชี้ชัด 'พัชรวาท' ไม่ผิด คดีสลายชุมนุมพันธมิตรปี 51 หลังโดนร้อง ขาดคุณสมบัติเป็น รัฐมนตรี
เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่คาดว่าจะตกเป็นของ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ดูเหมือนจะไม่ง่าย หลังจากถูกนายสิทธิชัย หอมศิริวรรณ ทนายความของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี ที่เคยถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ เมื่อปี 2552 เมื่อครั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ จากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ปี 2551 แต่ “พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ได้อุทธรณ์คำสั่ง และต่อสู้จนได้รับการยกโทษ ปลดออกจากราชการ เมื่อปี 2557
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ยกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 รัฐบาลนายสมชาย ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ซึ่งภายหลังการสลายการชุมนุมโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามหลักสากล กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ บาดเจ็บ 471 คน
โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในคำวินิจฉัย ของนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาและกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต) ในศาลฎีกา ในฐานะองค์คณะผู้พิพากษาในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ในขณะนั้น ส่วนหนึ่งสรุปได้ว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น สามารถดำเนินการเลื่อนวันประชุมรัฐสภา หรือเปลี่ยนสถานที่ประชุม เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ จึงเห็นควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา อาจเลื่อนการแถลงนโยบาย หรือเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้หรือไม่ แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษนายชัยมาด้วย แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย เพราะนอกจากจะต้องวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันความสูญเสียแก่ประเทศชาติ และประชาชนที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การแถลงนโยบายเป็นหน้าที่เพื่อประเทศ จะได้มีคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้การว่า ได้ขอให้มีการเลื่อน หรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไป จำเลยที่ 4 แก้อุทธรณ์ว่า การเลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายของจำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 4 และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 176 เป็นเงื่อนไขข้ออ้างสำคัญของฝ่ายการเมือง ว่าไม่อาจเปลี่ยนแปลง หรือเลื่อนกำหนดการแถลงนโยบายเกินกว่า 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ได้
เห็นว่าตามมาตรา 176 ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดว่า การไม่แถลงนโยบายตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิด ทั้งไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แม้จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ต้องแถลงนโยบาย ก็มีผลบังคับเพียงให้ต้องดำเนินการแถลงนโยบาย โดยชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่มิได้บังคับว่าต้องทำภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพราะแม้ยังไม่ได้แถลงนโยบาย จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นได้
ทั้งอาจมีเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องในคดีนี้ ที่อาจทำให้ไม่สามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การยืนยันหรือฝืนสถานการณ์ที่เล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนไม่แต่เฉพาะผู้มาชุมนุม แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในสถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนั้น จึงไม่ควรได้รับการรับรองว่าถูกต้อง
แม้รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 176 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่การจะแถลงนโยบาย ณ สถานที่ใด กำหนดเวลาใดนั้น ย่อมอาจขยายหรือย่นระยะเวลาได้ตามความจำเป็น โดยต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
การเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องช่วงค่ำวันที่ 6 ต.ค. 2551 ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะเชื่อว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายชัย ประธานรัฐสภา ซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศ มิได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของบ้านเมือง และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่า จะต้องขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นเหตุให้มีการเผชิญหน้า ปะทะกัน เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน งบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเกิดความเกลียดชังกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของฝ่ายการเมือง คือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายชัย ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาในขณะนั้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ โดยขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และการไม่หลีกเลี่ยงภยันตรา ยที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้น ด้วยการไม่เลื่อน หรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และจำเลยที่ 4 ผบช.น.
ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าว ชี้ชัดได้ว่า “พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ไม่ผิด และสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้