ข่าว

'ก้าวไกล ' แนะ  เงินดิจิทัล 10,000 บาท ป้อนร้านค้ารายย่อย เชื่อฟื้นศก.ได้จริง

'ก้าวไกล ' แนะ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ป้อนร้านค้ารายย่อย เชื่อฟื้นศก.ได้จริง

11 ก.ย. 2566

สส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล อภิปรายในสภา มอง " โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท " จะเห็นผลจริง ควรเจาะจงไปที่ กลุ่มร้านค้ารายย่อย หรือ SMEs เพราะเป็นฐานรากในการสร้างความหมุนเวียนของระบบ ชี้หากไม่กำหนดเป้าหมายชัดเจน สุดท้ายกลุ่มทุนขนาดใหญ่กินรวบ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา  ว่า  จากการฟังคำแถลงพบว่า  รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการย่อย หรือ  SMEs น้อยเกินไป โดยมีเพียงการอธิบายว่า SMEs กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดเท่านั้น    ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว  ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือรายย่อย   พบกับปัญหามายาวนานก่อนวิกฤตโควิด ทำให้กังวลว่าหากรัฐบาลมองวิกฤตเศรษฐกิจนี้แต่ในภาพกว้าง โดยคิดว่าเพียงการกระตุ้นและการแจกเงินเพียงครั้งเดียวจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ หรือจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด

 

 

 

 

สิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาลคือแต้มต่อ เพื่อช่วยแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ที่มีทรัพยากรที่ได้เปรียบมากกว่า SMEs   และมีแนวโน้มจะกินรวบในเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกวัน ตนจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไข โดยเฉพาะในโครงการเติมเงินดิจิทัล จากที่กำหนดให้สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร   มาเป็นการกำหนดให้เงินดิจิทัล ใช้ได้เฉพาะกับร้านค้ารายย่อย หรือ SMEs เท่านั้น หรืออย่างน้อยรัฐบาลควรจะกำหนดแต้มต่อให้ร้านค้า SMEs เป็นโบนัส 20% - 30% สำหรับเงินดิจิทัล ดีกว่าที่จะใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อสุดท้ายจะไหลเข้ากลุ่มทุนใหญ่ทั้งหมด

 

 

 

 

.

เชื่ออัดฉีดรายย่อยของจริง ช่วยฟื้นศก. 

.

 

 

ผู้ประกอบการรายย่อยฐานราก คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้มากที่สุด และการกำหนดเฉพาะร้านค้ารายย่อย จึงเกิดการกระจายเม็ดเงินไปยังทุกพื้นที่ได้จริง ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล หรือถ้าวัตถุประสงค์ของโครงการคือต้องการเห็นเม็ดเงินสะพัด เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบมากที่สุดเ พื่อฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วๆ การกำหนดเงื่อนไขให้มีการหมุนเงินกันเฉพาะร้านค้ารายย่อย ก็ย่อมจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์นี้มากกว่า และนี่เป็นสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย   "หวยใบเสร็จ SMEs"  ให้รายย่อย SMEs ได้มีแต้มต่อ เพื่อจูงใจให้คนหันมาอุดหนุนร้านรายย่อยมากขึ้น 

 

 

 

 

 ด้านโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ของ SMEs  ปีที่แล้วสินเชื่อในระบบทั้งหมดที่อนุมัติให้ SMEs ลดลง 2% ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นถึง 5% ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา 6 ปีติดต่อกันแล้ว นี่คือความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันที่เกิดขึ้นชัดเจน เมื่อเงินทุนจากสินเชื่อในระบบไหลไปกองอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่หมด เงินทุนสำหรับ SMEs น้อยลงเรื่อย ๆ ยังไม่นับว่าดอกเบี้ยระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ก็ถ่างขึ้นเรื่อย  ๆ 

 

.

ขอรัฐเพิ่มวงเงินช่วยทุนรายเล็กขับเคลื่อน

.

 

สิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาล คือการเพิ่มวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อ ให้ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ปกติมีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินไม่ค่อยอยากจะอนุมัติสินเชื่อให้ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายค้ำประกันช่วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้กลไก    บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  "บสย." เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs แต่งบประมาณที่รัฐบาลก่อนหน้าจัดสรรให้ยังไม่มากพอ ที่จะทำให้สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้แก่ SMEs

 

 

"นโยบายการเพิ่มงบประมาณให้ บสย. 30,000 ล้านบาท ก็เป็นนโยบายเดียวกัน ที่ทั้งพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้เคยหาเสียงไว้ตรงกัน แต่วันนี้กลับไม่เห็นในคำแถลงนโยบายแล้ว จึงต้องถามว่าเราจะได้เห็นการสนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่  เพราะการที่ SMEs กู้สินเชื่อในระบบไม่ได้ ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาสังคมเกิดขึ้นตามมา และตราบที่ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบไม่ได้ ต่อให้รัฐบาลจะเติมเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ โอกาสที่รายย่อยจะเข้าถึงทุนก็จะไม่เกิดขึ้น และจะกลายเป็นว่าประชาชนได้แค่ 10,000 บาทมาใช้ แต่มูลค่าเศรษฐกิจก็จะเข้าไปทุนใหญ่เหมือนเดิม    "   นายวรภพ ระบุ