'เศรษฐา' ยันไม่แก้ รธน.หมวด1,2 โยน รมช.คลังตอบปมแจกเงินหมื่น
'เศรษฐา' ลุกแจงยันไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1,2 เชื่อพักหนี้เกษตรกรรอบนี้ทำประโยชน์กว่า 9 ปีที่ผ่านมา พร้อมโยน 'จุลพันธ์' ตอบปมดิจิทัลวอลเล็ต
วันที่ 11 ก.ย. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันจะปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้หมวด 1 ความมั่นคงของรัฐ และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญจะดำรงไว้ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนนโยบายพักหนี้เกษตรกรนั้น 9 ปีที่ผ่านมาพักหนี้แล้ว 13 ครั้ง ซึ่งเราตระหนักดีว่าไม่ใช่การแก้ไขที่ยั่งยืน เราจึงมีมาตรการหลายอย่างออกมา เช่น เพิ่มรายได้ภายใน 4 ปี ควบคู่กับการพักหนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงฟื้นฟูและทำให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ เชื่อว่าการพักหนี้ของรัฐบาลนี้จะทำประโยชน์มากกว่า 9 ปีที่ผ่านมา
ส่วนกรณีดิจิตอลวอลเล็ท รัฐบาลตระหนักดีปัญหาชนบทที่มีร้านค้าไม่เพียงพอ นายเศรษฐากล่าวว่าขอไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนระยะเวลาการใช้งาน 6 เดือน จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก มีบางคนบอกว่าอยากให้ยกเลิกการใช้รัศมี 4 กิโลฯ คิดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น ผู้มีถิ่นฐานใดก็ควรกลับไปใช้ที่นั้น มีเวลา 6 เดือนในการใช้กลับไปหาญาติพี่น้อง เพื่อสถาบันของครอบครัว และบางจังหวัดบางเขตอาจขยาย ต้องดูอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ค่าแรงขั้นต่ำนั้น สมควรได้รับการปรับโดยเร็ว และตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 5 % ต่อปี ตลอดระยะเวลา 4 ปี ทำให้ค่าแรงขึ้น 600 บาทต่อวัน และปริญญา 25,000 บาทต่อปี ค่าพลังงาน เป็นเรื่องที่เราตระหนักดีที่จะต้องลด เรามั่นใจจะทำให้ต่ำลงอย่างมีนัยยะ
ส่วนกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นายเศรษฐายืนยันว่า ยังคงมีอยู่ และเรื่องความห่วงใยเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในความโปร่งใสโดยเราจะใช้ระบบดิจิตอลให้มากขึ้น เพื่อลดการทุจริตมิชอบ
ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวชี้แจงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน โดยยืนยันในกรอบคิดของดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เพื่อได้มาซึ่งคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่เห็นแล้วว่าประเทศไทยเวลานี้ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีหลักคิดสำคัญคือกระตุ้นกลไกเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาค ด้วย Blockchain
ทั้งนี้ ยังมีหลักคิดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ให้อนาคตคนไทยมีทั้งกระเป๋าเงินสดและกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะเป็นโครงสร้างรองรับโอกาสที่ไทยจะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก
ในส่วนของที่มาของงบประมาณ นายจุลพันธ์ ขอความร่วมมือให้สมาชิกอภิปรายด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจชี้นำสังคมให้เข้าใจผิด กระทบกับความน่าเชื่อถือทางวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลยืนยันไม่แตะต้องกองทุนวายุภักดิ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ กองทุนประกันตน รัฐบาลไม่ได้มีแม้แต่ความคิดจะแตะต้องกระบวนการเหล่านั้น
สำหรับกระบวนการของรัฐบาล นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สุดท้ายจะมีความชัดเจนเรื่องกรอบการใช้เงิน รวมถึงการใช้เงินคืน ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และเป็นไปตามวินัยการเงินการคลังอย่างแน่ชัด
ส่วนเงื่อนไขใช้เงินดิจิทัลได้ในระยะ 4 กิโลเมตรนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและสมาชิกรัฐสภา ต้องขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะ และหาหนทางให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อสรุปจะเป็นเช่นไรสุดท้ายเม็ดเงินจะไปสู่มือประชาชน และตอบเป้าหมายหลักคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในเรื่องของการเอื้อทุนใหญ่ รวมถึงการดำเนินการให้เกิดราคาที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลรับฟังโดยคำนึงถึงความหวังดี แต่รัฐบาลไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้ร้าย แต่มองว่าประชาชนส่วนมากจะสามารถใช้เงินที่ได้รับไปให้เกิดประโยชน์ ทั้งการบริโภคและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลเชื่อมั่นในประชาชนว่าจะสามารถนำเม็ดเงินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และระบบ Blockchain ไม่มีเทคโนโลยีใดที่ปลอดภัยไปกว่านี้ จึงขอให้ความมั่นใจว่านโยบายนี้จะมีเกิดประโยชน์และตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด