ข่าว

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้เลยไม่ต้องรอปีใหม่

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้เลยไม่ต้องรอปีใหม่

12 ก.ย. 2566

ดร.สามารถชี้ 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' สายสีม่วง - แดง ทำได้เลยไม่ต้องรอปีใหม่ เชื่อรัฐต้องจ่ายชดเชยปีละไม่น้อยกว่าหมื่นล้าน แนะเหมาจ่าย 50 บาทช่วยเพิ่มยอดผู้โดยสาร ชดเชยน้อยกว่า

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง เปิดเผยถึงกรณี รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย นโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล โดยกล่าวว่า จากกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้แถลงในสภาว่า รถไฟฟ้า 20บาทตลอดสาย จะทำในช่วงปีใหม่นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งเดิมบอกว่าต้องใช้เวลา 2 ปี สิ่งที่แถลงไม่ตรงกับที่ชี้แจงเมื่อสัปดาห์ก่อน ดร.สามารถ กล่าวว่า การทำแค่สายใดสายหนึ่งนั้นสามารถทำได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอปีใหม่ โดยเฉพาะสายสีม่วง และสายสีแดง โดยในปัจจุบันสายสีม่วงมีค่าโดยสารอยู่ที่ 17- 42 บาท และสายสีแดงอยู่ที่ 12- 42 บาท ซึ่งทั้ง 2 สายลงทุนโดยภาครัฐทั้งหมด โดยสายสีแดงลงทุนโดย รฟท.และสายสีม่วงลงทุนโดยรฟม.100% จึงสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอปีใหม่ 1 ต.คนี้ ก็สามารถทำได้แล้ว ซึ่งก็ตรงกับที่หาเสียงไว้ที่บอกว่าใช้ข้ามสายได้ 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

สำหรับประเด็นราคาค่าโดยสารราคาเดียวกัน 20 บาทตลอดสายนั้น

ดร.สามารถ ให้ความเห็นว่า สามารถเป็นจริงได้เพียงรัฐต้องชดเชยให้แก่เอกชนผู้เดินรถไฟฟ้า การที่รัฐมนตรีคมนาคม บอกว่า หลังจากลดค่าโดยสารเป็น 20 บาทตลอดสายจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20% และรายได้ของผู้เดินรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นและจะขอแบ่งจากผู้เดินรถไฟฟ้า เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลย เพราะรายได้ของผู้เดินรถจะลดลง ซึ่งทางรัฐต้องเป็นฝ่ายชดเชยให้ผู้เดินรถไม่น้อยกว่าปีละ 1หมื่นล้านบาท อย่าหวังว่าจะได้แบ่งผลกำไรจากผู้เดินรถ 

ดร.สามารถ กล่าวด้วยว่า ถ้าจะทำ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จริงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าต้องอะไรบ้าง และต้องทำอะไรก่อน และจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเจรจากับผู้เดินรถในเรื่องการแบ่งรายได้ ซึ่งหากรัฐชดเชยให้ได้ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอถึง 2 ปี ในกรณีที่วิ่งข้ามสายได้สามารถทำได้ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องกำหนดรายละเอียดลงไปก่อน และต้องจำกัดเวลาการเดินรถด้วย ว่า 20 บาทตลอดสายในช่วงเวลาใด และกี่ชั่วโมง ไม่ใช่ทั้งวันต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อน และกำหนดว่าจะใช้ตั๋วโดยสารแบบไหน โดยเคยเสนอแนะไปว่าควรสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมา วิธีการนี้ง่ายที่สุด

 

ดร.สามารถ กล่าวว่า รถไฟฟ้าในประเทศไทยปัจจุบัน เปิดมาแล้ว 7 เส้นทาง ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ยังมีผู้ใช้บริการจำนวนน้อยมาก โดยใช้บริการวันละประมาณ 1.5 ล้านเที่ยวต่อวันเท่านั้น ถ้าคิดเป็นจำนวนคนอยู่ที่ประมาณ 7.5 หมื่นคนต่อวัน ถือว่าน้อยมาก ไม่คุ้มค่าการลงทุน การก่อสร้างเลย ต้องทำให้มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็น 3 ล้านเที่ยวต่อวัน หรือประมาณ 1.5 ล้านคนต่อวัน โดยปัจจัยที่ทำให้คนใช้บริการน้อย ปัจจัยแรกคือค่าโดยสารแพง ปัจจัยที่สองคือเส้นทางบางเส้นทางมีคนอยู่อาศัยน้อยมาก

 

ทั้งนี้ในปี 2547 ขณะนั้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรมว.คมนาคม เคยมีความพยามยามจะซื้อสัมปทานคืนจากผู้เดินรถเอกชน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะต้องใช้เงินมหาศาล ถัดมาในปี 2554 รัฐบาลเพื่อไทย ตอนหาเสียงประกาศนโนบาย 20 บาทตลอดสายทันที แต่พอได้เป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ทำ ส่วนตัวได้ทำการเสนอแนวคิดให้มีการเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย 50 บาททั้งวัน ใช้บริการได้ทุกสาย ทุกสี โดยข้อเสนอนี้มีข้อดีตรงที่ รัฐจะชดเชยให้ผู้เดินรถน้อยกว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจากการคำนวณเห็นว่ากาชดเชยในปีแรกจะอยู่ที่ราว 7.5 พันล้านบาท และจะลดลงทุกปีเมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่านโยบายนี้จะกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นแน่นอน