ข่าว

'วราวุธ' แจงปมจ่ายเงินเด็กแรกเกิดล่าช้า เหตุเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล

'วราวุธ' แจงปมจ่ายเงินเด็กแรกเกิดล่าช้า เหตุเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล

12 ก.ย. 2566

'วราวุธ' แจงปมจ่ายเงินอถดหนุนเด็กแรกเกิดล่าช้าเพราะเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล เตรียมส่งสหวิชาชีพซัพพอร์ต 'หยก' ในมิติครอบครัว

วันที่ 12 ก.ย.นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการแถลงโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่า ในส่วนของ พม.ไม่มีความกังวล เมื่อวานนี้มีสมาชิกรัฐสภาเพียงคนเดียวที่อภิปรายเรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ แต่วันนี้คาดว่ามีประเด็นอื่นเพิ่มเติม ซึ่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. ได้เตรียมข้อมูลไว้แล้ว ส่วนตัวก็ต้องขอบคุณหลังจากที่มีการแถลงนโยบายไปแล้วเมื่อวานนี้ ก็มีหลายหน่วยงานติดต่อเข้ามา ซึ่งการทำงานของ พม.จากนี้ไปจะเป็นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น 

เมื่อถามถึงเรื่องการเลื่อนจ่ายเงินตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จากวันที่ 8 กันยายน2566 ให้กับผู้มีสิทธิรายเดิมและรายใหม่ 2,288,337 คนนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขออภัยประชาชนโดยเฉพาะเด็กและผู้มีสิทธิ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการอนุมัติในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเก่าไม่สามารถอนุมัติงบได้ ส่วนครม. ชุดใหม่ก็ไม่มีอำนาจ ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมครม.อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยตนได้ประสานหน่วยงานในสังกัด พม. เตรียมเอกสารชี้แจงแล้ว เพื่อเร่งจ่ายเงิน 600 บาท ให้ทันวันที่ 18 กันยายนนี้ ขณะเดียวกัน ขอชี้แจงว่า ทุกๆเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณนั้น โดยเฉพาะงบของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ไม่เพียงพอต่อจำนวนของเด็กที่จะได้รับการสนับสนุน เนื่องจากจำนวนเด็กแรกเกิดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ขอย้ำว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก

ส่วนกรณีของหยก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชน นายวราวุธกล่าวว่า เรื่องของหยกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา และส่วนที่เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งบริบทของ พม.ที่รับผิดชอบนั้น จะไม่ก้าวล่วงในเรื่องสถานศึกษา เพราะเป็นบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องรับผิดชอบ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัว มิติต่างๆ เราคงใช้สหวิชาชีพในทุกแขนงซับพอร์ทดูแลน้อง และขอย้ำว่าไม่ได้เน้นเรื่องปัจเจกบุคคลคือดูแลใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำงานทั้งระบบ ไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ เพราะเชื่อว่ามีอีกหลายกรณีที่เกิดเรื่องคล้ายๆกัน ดังนั้นต้องแก้ไขทั้งระบบ