พริษฐ์ ประกาศ 'ก้าวต่อไปก้าวไกลทั้งแผ่นดิน' เปิดสมรภูมิสภา-เน้นตรวจสอบ
'พริษฐ วัชรสินธุ' ประกาศ ’ก้าวต่อไปก้าวไกลทั้งแผ่นดิน' ยกระดับงานสภา ทลายมายาคติเชิงลบต่อการเมือง จากนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายค้านก็เปลี่ยนประเทศได้ เพื่อฟื้นศรัทธาประชาชนต่อระบบรัฐสภา และเพิ่มความพร้อมในการเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
วันที่ 24 ก.ย. 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวปราศรัยภายในงานพบปะสมาชิกของพรรคก้าวไกล “ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวถึงแผนการทำงานและบทบาทของ สส.พรรคก้าวไกล ต่อจากนี้
พริษฐ์ กล่าวว่าพรรคก้าวไกลมีสมาชิกที่เป็นเจ้าของพรรคมากกว่า 7 หมื่นคน ด้วยความฝันและความเชื่อเดียวกันว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้ ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็งกว่านี้ได้ เศรษฐกิจไทยไปไกลกว่านี้ได้ และสังคมไทยน่าอยู่กว่านี้ได้ และทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านยานพาหนะที่ชื่อว่าพรรคก้าวไกล
หากจะสรุปเรื่องราวของพรรคก้าวไกลตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ใน 1 ประโยค มันคือเรื่องของการ “Beating the Odds” หรือการทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ ตอนพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ หลายคนไม่คิดว่าพรรคก้าวไกลจะลุกขึ้นมาได้เร็ว แต่วันนี้พรรคก้าวไกลมีสมาชิกพรรคมากกว่าสมัยอนาคตใหม่แล้ว
เมื่อพรรคก้าวไกลยืนยันทำการเมืองแบบใหม่ ไม่อิงกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หลายคนวิเคราะห์ว่าเราไม่สามารถชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้ แต่วันนี้พรรคก้าวไกลมี สส. แบบแบ่งเขตจาก 28 จังหวัดในทุกภาคทั่วประเทศ ในคืนวันก่อนเลือกตั้ง หลายคนไม่เชื่อว่าเราจะมี สส. เกิน 100 คน แต่วันนี้พรรคก้าวไกลก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ว่าเป็นพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศได้
ผมเข้าใจว่าวันนี้หลายคนรู้สึกผิดหวัง ที่เราไม่สามารถเข้าไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในฐานะรัฐบาลได้ แต่ตนเชื่อว่า 4 ปีข้างหน้านี้ เราจะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นได้ว่าฝ่ายค้านก็เปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้
วันนี้จึงอยากมาเล่าให้ฟังว่าพรรคก้าวไกลตั้งใจจะใช้กลไกสภาอย่างไรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ผ่านการพูดถึง 5 มายาคติทางการเมืองที่เราต้องการเข้าไปทลาย ประกอบด้วย
.
1. มายาคติ “ฝ่ายค้านจะเสนอกฎหมายไปทำไม เพราะอย่างไรก็ไม่มีวันผ่าน” หลายคนคงได้เห็นแล้วถึงความพยายามของพรรคก้าวไกลในการผลักดัน “ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ” ผ่านกลไกนิติบัญญัติ โดยตั้งแต่สภาชุดนี้เปิดมาเป็นเวลา 3 เดือน พรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างกฎหมายไว้ 50 กว่าร่าง ได้ยื่นเข้ากระบวนการสภาไปแล้ว 27 ร่าง ซึ่งอยู่ในช่วงของกระบวนการรับฟังความเห็น 14 ร่าง
แต่หลายคนก็ตั้งคำถามว่าในเมื่อพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน มีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา แล้วจะเสนอกฎหมายเหล่านี้ไปทำไม แต่ตนยืนยันว่าเป้าหมายการเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกล คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 2 สมรภูมิรบสำคัญ
สมรภูมิแรกคือสมรภูมิในสภา โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนกฎหมาย แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่คณิตศาสตร์พื้นฐานก็บอกเราว่า หาก สส. รัฐบาล 100 คนขึ้นไปเห็นชอบกับกฎหมายฉบับใดที่สอดคล้องกับนโยบายและจุดยืนของเขา กฎหมายฉบับนั้นก็ผ่านสภาได้ และหากย้อนไปในวันที่พรรคก้าวไกลมี สส.เพียง 50 กว่าคน หลายกฎหมายก็ยังเกือบผ่านสภาได้ เมื่อวันนี้เรามี สส. เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แล้วทำไมเราจะไม่กล้าพยายามผลักดันกฎหมายให้ผ่านให้ได้
แต่สมรภูมิรบที่สองที่สำคัญเช่นกัน ก็คือ สมรภูมินอกสภา ที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนความคิดผู้คน แม้จะแพ้โหวตในสภา แต่การได้ใช้สภาเป็นเวทีในการนำเสนอหลักการและเหตุผลของเรา จะเป็นวิธีที่ทรงพลังในการเพิ่มผู้คนที่หันมาเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น จนทำให้หลายวาระที่อาจดูเป็นไปได้ยาก กลายมาเป็นวาระที่ทุกฝ่ายทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าเราจะสำเร็จในการเปลี่ยนตัวบทกฎหมายหรือไม่ แต่การหว่านเมล็ดพันธ์ุทางความคิดให้กับสังคมก็มีความสำคัญเช่นกัน
2.มายาคติ “คณะกรรมาธิการในสภามีไว้เพื่อผลาญงบ” แม้กลไกของคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) 35 คณะ จะเป็นกลไกที่ประชาชนหลายส่วนตั้งข้อสงสัย แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากลไก กมธ. สามารถถูกใช้ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการพยายามวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบสำหรับ กมธ. ที่มีประธานจากพรรคก้าวไกล เช่น การทำให้กระบวนการในการจัดทำงบประมาณมีความโปร่งใสตั้งแต่ต้น โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล การทำงานเชิงรุกในการสร้างความตื่นตัวและระดมความเห็นจากประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือร่างกฎหมายที่ยกระดับประชาธิปไตย เป็นต้น
3.มายาคติ “สภาคือโรงละคร” แม้สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นองค์กรระดับประเทศองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนหลายส่วนยังมีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับการทำงานในสภา ทั้งความยืดเยื้อ ไม่มีประสิทธิภาพ เสียดสีกันไปมา คำถามเรื่องความโปร่งใส การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์
แม้ตนเชื่อว่าเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากนโยบายที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ ได้เริ่มผลักดัน แต่พรรคก้าวไกลอยากเห็นสภาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าประธานและรองประธานจะชื่ออะไร สังกัดพรรคไหนก็ตาม จึงได้ยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาเข้าไปแล้วเป็น “ข้อบังคับสภาก้าวหน้า” เพื่อยกระดับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะทำให้สภาเป็น “Open Parliament” หรือสภาที่โปร่งใส ให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ และเปิดเผยรายงานการประชุมและข้อมูลการลงมติในรูปแบบที่วิเคราะห์ต่อง่าย, ทำให้สภาเป็น “Strong Parliament” ที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างเข้มข้น ให้ประธานของ กมธ. สามัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เป็น สส. ฝ่ายค้าน
ทำให้สภาเป็น “Active Parliament” โดยเพิ่มกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีที่เปิดให้มีการถามไว-ตอบไวระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำฝ่ายค้าน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ อ้างอิงมาจาก “Prime Minister’s Questions” ของสภาในสหราชอาณาจักร, ทำให้สภาเป็น “Global Parliamnet” หรือสภาที่เชื่อมโยงกับสากล โดยให้มีการแปลทุก พ.ร.บ. ที่สภาเห็นชอบเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นคลังข้อมูลในการสื่อสารกับประชาคมโลก และ การทำให้สภาเป็น “People’s Parliament” ที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเปิดให้ประชาชน 5,000 คน มีสิทธิร่วมเข้าชื่อเสนอญัตติ รวมถึงกำหนดให้ร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเสนอโดยประชาชน ต้องถูกนับเป็นเรื่องด่วนและต้องถูกพิจารณาก่อน
4.มายาคติ “ฝ่ายค้านจะต้องค้านทุกเรื่อง” แม้หลายคนจะคุ้นชินกับบรรยากาศของฝ่ายค้านที่จะต้องค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องที่เป็นประโยชน์ พร้อมทักท้วงรัฐบาลในเรื่องที่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์ เป็นฝ่ายค้านที่นำหน้าปัญหา ไม่ใช่ “เงา” ที่คอยตามหลังและไล่บี้รัฐบาล แต่จะเป็น “แสง” ที่คอยนำทางและชี้แนะรัฐบาล
ดังนั้น ใน 4 ปีข้างหน้านี้ พรรคก้าวไกลจะพิสูจน์ให้เห็นว่าฝ่ายค้านสร้างสรรค์และฝ่ายค้านที่นำหน้าปัญหา เป็นจริงได้ในการเมืองไทย จะมีการทำ Policy Watch คอยติดตามนโยบายของทุกกระทรวงอย่างใกล้ชิด และนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลรับไปพิจารณา การยื่นร่างกฎหมายประกบร่างกฎหมายจาก ครม. อย่างสม่ำเสมอ หาก ครม. เสนอกฎหมายที่ยังมีเนื้อหาที่ก้าวไกลมองว่าบกพร่องหรือไม่ครบถ้วนสู่สภา พร้อมทั้งจะวิพากษ์วิจารณ์แบบมีข้อเสนอและทางออกควบคู่ ตอบได้เสมอว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
5.มายาคติ “สส. เขตทำงานพื้นที่ สส.บัญชีรายชื่อทำงานเชิงประเด็น” สำหรับพรรคก้าวไกล บทบาทของ สส. แบบแบ่งเขตจะไม่เป็นเพียงแค่ผู้แทนที่ดีของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในส่วนที่เขามีความสนใจหรือความเชี่ยวชาญด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในการอภิปรายคำแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. ที่ผ่านมา มี สส.พรรคก้าวไกล ถึง 10 จาก 31 คน ที่เป็น สส. แบบแบ่งเขต และใน 4 ปีข้างหน้านี้ พรรคก้าวไกลจะกระจาย สส. ทุกคน ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อไปตามกลุ่มเชิงประเด็น 15 กลุ่ม ให้ สส. แต่ละคน สามารถเป็นตัวแทนหลัก (champion) ของพรรคในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านั้นได้
บางคนอาจจะมองฝ่ายค้านด้วยความรู้สึกดูแคลน เป็นเสียงข้างน้อยในสภาที่โหวตอย่างไรก็ยากที่จะชนะ แต่สำหรับตนฝ่ายค้านเป็นบทบาทที่มีคุณค่าและขาดหายไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย เป็นจุดตัดสำคัญระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน กับระบอบเผด็จการที่ไม่อนุญาตให้มีฝ่ายค้านและผูกขาดอำนาจจนประชาชนไม่มีทางเลือก
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลอยากเป็นฝ่ายค้านมากกว่าเป็นรัฐบาล หรือต้องการเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต เพียงแต่ตนไม่อยากให้ทุกคนหมดหวัง แต่อยากให้ทุกคนภูมิใจกับบทบาทฝ่ายค้านที่แบกความหวังของประชาชนอย่างน้อย 14 ล้านคนทั่วประเทศ และตนเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลใช้ทุกวินาทีในสภาตลอด 4 ปีข้างหน้า ไปเพื่อการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า การขับเคลื่อนงานยากผ่านกลไกกรรมาธิการ และการเป็นฝ่ายค้านสร้างสรรค์ที่ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เราไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จในการทลายมายาคติของการเมืองเดิมๆ และฟื้นฟูศรัทธาประชาชนต่อระบบรัฐสภาได้
“ใน 4 ปี หลังจากนี้ ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกล จะประสบความสำเร็จ ในการทลายมายาคติเดิมๆ และฟื้นฟูประชาธิปไตยในสภาฯ และทำให้เห็นว่าฝ่ายค้านสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ผมเชื่อว่าในวันที่ประชาชนทั่วประเทศเดินเข้าคูหาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป พวกเขาจะมีความคิดในใจว่า ขนาดเป็นฝ่ายค้านพวกเรายังเปลี่ยนประเทศได้ขนาดนี้ แล้วถ้าส่งให้พวกเราเป็นรัฐบาล ประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน”โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวสรุป