‘หมออ๋อง’ รองประธานสภา แจงยิบ ดูงานสิงคโปร์ ใช้งบต่ำกว่าเป้า 5 แสน
‘หมออ๋อง’ แจงยิบ งบดูงานสิงคโปร 9.1 แสนบาท ยอมรับมี 2 สส.ขอกลับก่อน ปัดร่วมงานคราฟเบียร์ เล็งเปิดสภาให้ ปชช.เป็นพยานพิจารณางบฯ-ซักฟอก พร้อมเตรียมเสนอประธานรัฐสภา ตั้ง คกก.พิจารณาข้อพิพาทก่อสร้างรัฐสภา
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงรายละเอียดการเดินทางไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ว่า ในการไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ใช้งบประมาณไปราว 910,000 บาท จากที่มีการตั้งงบประมาณไว้ 1,490,000 บาท ซึ่งต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 500,000 บาท โดยงบรับรอง ได้ใช้ไป 61,000 บาท จากที่ตั้งไว้ 200,000 บาท
ซึ่งการรับรองใช้ใน 2 กิจกรรมหลัก คือ การเลี้ยงรับรองนักศึกษาไทย และแรงงานไทยที่ได้เชิญมาหารือ และมื้อรับรอง สส.ฝ่ายค้านของสิงคโปร์ รวมถึงค่าทิปพนักงานขับรถ และค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ
ส่วนผลการศึกษานั้น นายปดิพัทธ์ ระบุว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมรายงาน โดยพบ 3 ประเด็นหลักจากการศึกษาดูงาน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย เพื่อการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ที่พบว่า ประเทศไทย จะต้องเตรียมโครงสร้างกฎหมายรองรับยานยนต์ไฟฟ้าให้เดินหน้าต่อไปได้ เช่น การกำหนดเบ้าชาร์จที่แต่ละรุ่นยังแตกต่างกัน และรูปแบบตัวถัง ที่จะต้องมีโครงสร้างกฎหมายรองรับให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ สามารถมาลงทุนในประเทศไทยได้
โดยเมื่อรวบรวมรายงานเสร็จสิ้นแล้ว จะเสนอต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลให้รับทราบต่อไป รวมถึงปัญหาของคนไทย ที่หลายคนทำงานที่สิงคโปร และไม่กลับประเทศไทย เพราะระบบภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีไม่พร้อม และมาตรการทางภาษีที่ไม่ดึงดูดให้บริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ และการเปิดเผยข้อมูลที่ประเทศไทยมีไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีการเสนอต่อกฤษฎีกา และกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป และแรงงานไทยในสิงคโปร์ ต้องการการสนับสนุน เพื่อให้มีทักษะภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น สามารถเทียบเท่านานาชาติได้
นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงการดูงานการพัฒนาสภาให้ก้าวหน้า และโปร่งใสว่า สิงคโปร์ลงทุนกับประสิทธิภาพของรัฐสภาสูงมาก แม้มีขนาดเล็ก แต่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยให้คุณภาพกับการประชุมสูง ใช้เวลาการประชุมเดือนละครั้ง ใช้เวลา 3-4 วัน ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามการประชุมได้ทั้งวัน
ดังนั้น การอภิปรายงบประมาณ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรไทยครั้งนี้ ตนจะเสนอให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามการประชุมได้ เหมือนที่สิงคโปร์ เพื่อให้ประชาชนเป็นพยานการตัดสินใจของ สส. รวมถึงการจผลักดันนโยบาย Open Paliment ได้ หากรัฐสภาไทย ยังไม่มีระบบ Colund First เพื่อรองรับข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในอดีต และรองรับไว้สำหรับอนาคตได้อย่างไม่จำกัด ประชาชน สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ และ สส.สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทันท่วงที ซึ่งตนเองจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ICT ของรัฐสภา เพื่อให้สภาพิจารณาลงทุนให้มีความทันสมัยที่สุด
ส่วนคณะทำงานที่เดินทางร่วมคณะไปด้วยนั้น นายปดิพัทธ์ ยอมรับว่า มีทั้งผู้ที่เดินทางตามไป คือ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ติดเชื้อโควิดก่อนหน้านี้ และรอการกักตัวให้ครบเวลา จึงเดินทางตามไป ส่วน สส.ที่กลับก่อน 2 คน คือ นายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรยชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ต้องกลับมาเตรียมงานที่เกี่ยวข้อง SMART Paliment และนายศรัยณ์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ที่ติดภารกิจการประชุมวิปรัฐบาล แต่ทั้ง 2 ได้ดูงานตามความสนใจครบถ้วน ไม่ใช่การกลับโดยพลการ
นายปดิพัทธ์ ยังชี้แจงถึงภาพการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการไปศึกษาดูงานว่า เป็นความเข้าใจผิด ไม่ใช่การไปเทศกาลคราฟเบียร์ แต่เป็นการไปเยี่ยมไซต์คนงานก่อสร้างไทยในคืนวันเสาร์ และได้พบแรงงาน ที่เป็นตัวแทนที่มาพูดคุยกัน และเชิญชวนไปดูหอพักที่แรงงานไทยใช้ชีวิต ซึ่งในคืนวันศุกร์ แรงงานไทย และต่างชาติจะพักผ่อน และตั้งวงรับประทานอาหาร และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตนก็ดื่มตามวงต่าง ๆ จนเกิดภาพที่ปรากฎ พร้อมระบุว่า การชนกระป๋องเบียร์ตามวงต่าง ๆ แรงงานกล้าพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลการเป็นอยู่กันมากขึ้น
นายปดิพัทธ์ ยังชี้แจงภายหลังการเรียกคณะกรรมการตรวจการจ้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ชี้แจงถึงความคืบหน้าการตรวจรับอาคารรัฐสภาว่า ยังมีความเห็นแย้งที่จะตรวจรับ เนื่องจาก การก่อสร้าง 6 จุด ยังไม่ตรงตามแบบที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ เสียงข้างน้อย ได้ทำความเห็นแย้งส่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งตามระเบียบการจ้าง เมื่อมีความเห็นแย้งแล้วให้อำนาจเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการชี้ขาดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เลขาธิการฯ จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ดังนั้น จึงต้องขึ้นอยู่กับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ว่า จะดำเนินการอย่างไรจะชี้ขาดก่อน หรือรอเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่มาพิจารณา และเชื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะตัดสินใจอย่างรอบคอบที่สุด
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ที่ตนเองจะดำเนินการ หลังมีความเห็นแย้งเกิดขึ้น และมีการฟ้องร้องบริษัทผู้รับจ้างต่อสภากว่า 1,000 ล้านบาท ที่กล่าวหารัฐสภา ทำให้การก่อสร้างของผู้รับเหมาไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภา จะไปต่อสู้คดีต่อไป เช่นเดียวกับค่าปรับที่มี 2 ช่วงเวลาในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีมติให้งดเว้นค่าเรียกเก็บค่าปรับ 857 วัน อีก 150 กว่าวันนั้น เป็นมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2559 ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำได้ จึงทำให้ค่าปรับวันละ 12 ล้านบาทจำนวน 990 วันเป็นศูนย์
ดังนั้น จึงจะมีการตั้งคณะกรรมาร ขึ้นมาเพื่อพิจารณาการแก้ไขสัญญาในอดีต ได้ทำไปโดยรอบคอบ มีความชอบธรรมหรือไม่ โดยตนเอง จะเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาต่อไป ซึ่งจะมีองค์ประกอบจากทั้ง สส. และ สว. เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด