‘จุรินทร์’ มอง นโยบาย ‘พักหนี้เกษตรกร’ หวั่นหนี้พุ่งอีก 70 %
‘จุรินทร์’’ มอง ‘พักหนี้เกษตรกร’ เป็นยาแดง หวั่นหนี้พุ่งอีก 70 % แนะรัฐบาลหาวิธีแก้เบ็ดเสร็จ ไม่ขวางแก้ รธน.รื้อรายมาตราหรือร่างยกฉบับ ชี้ต้องเตรียมงบไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคฯ กล่าวภายหลังที่คณะรัฐมนตรี มีมติพักหนี้เกษตรกรว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำ และไม่ทำไม่ได้ เนื่องจากได้หาเสียงไว้ แต่ตนมองว่า การพักหนี้เป็นเหมือนยาแดง แต่สิ่งที่สังคมต้องการ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ เพราะการพักหนี้เกษตรกร พักได้ 3 ปี
หวั่นเกษตรกรมีหนี้เพิ่ม 70 %
“ที่ผ่านมามีข้อเท็จจริงจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ที่เคยศึกษาว่า ส่วนใหญ่การพักหนี้ ที่เคยทำมาหลายครั้ง จะทำให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเป็นหนี้เพิ่มถึงร้อยละ 70 ดังนั้น รัฐบาลต้องตระหนัก และเตรียมการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า รวมถึงเตรียมเงินงบประมาณทั้งหมดในระยะยาวด้วย เพราะเป็นการนำเอาเงินของคนทั้งประเทศ มาใช้ในการชดเชยให้กับสถาบันการเงินจากการพักต้นพักดอก”
ส่วน นโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องตัดสินใจ แต่ตนเองยืนยันได้ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ ช่วยต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรในยามที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เนื่องจากมีเงินส่วนต่างมาชดเชยรายได้ทำให้เกษตรกรสามารถยังชีพได้
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสนับสนุนหากแก้แล้ว นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และพรรคฯ ย้ำจะไม่แก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง มาเป็นต้นแบบ ก็จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะแต่เนื้อหา มีความสำคัญมากกว่ารูปแบบการยกร่าง เนื่องจาก การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จะบังคับใช้จะตามเนื้อหา ไม่ใช่ตามที่มา ดังนั้นเนื้อหาจึงสำคัญ จึงควรไปดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนเคยบังคับใช้แล้ว มีช่องโหว่น้อยที่สุด และปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ทำไมรัฐบาล ต้องตั้งธง 4 ปีแก้รัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี แนะนำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อลดงบประมาณในการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายจุรินทร์ มองว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะรัฐบาล ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนตั้งแต่การหาเสียง ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติได้ระบุ จะมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. และมีการตั้งธงระยะเวลา 4 ปี
“แต่ผมเห็นว่า หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และมีการจัดตั้ง ส.ส.ร. รัฐบาลจะต้องจัดเตรียมงบประมาณไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งผมไม่ระบุจะค้าน หรือเห็นด้วย แต่รัฐบาล จะต้องมีงบประมาณที่จะต้องจัดเตรียมไว้ด้วย เพราะการจัดทำประชามติครั้งหนึ่งครั้ง ใช้งบประมาณประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท”อดีตรองนายกฯ กล่าว
ยังไม่กำหนดวันเลือกหัวหน้าปชป.
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ว่า ยังไม่ได้มีการกำหนดวัน และรอปรับความเข้าใจกัน ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็จะมีการคัดเลือกหัวหน้าพรรค และะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ยืนยันว่า จะไม่ให้เรื่องการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มากระทบการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หรือกระทบกับการตรวจสอบรัฐบาล