'สว.อนุพร' เผย แก้ รธน. ต้องไม่แตะข้อห้าม ม.255 ไม่จำเป็นทำประชามติ ถึง 3 ครั้ง
'สว.อนุพร' เผย แก้ รธน. ต้องไม่แตะข้อห้าม ม.255 ไม่จำเป็นทำประชามติ ถึง 3 ครั้ง แนะยื่นญัตติสภาผ่านวาระ 3 ค่อยออกเสียงครั้งเดียว เชื่อ ปชช. หวังแก้เศรษฐกิจก่อน
นายอนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตที่ปรึกษานายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน เปิดเผยถึงกรณีคณะรัฐมนตรีเตรียมตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ว่า หลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 255 และ 256 ซึ่งเป็นบทเฉพาะว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องยึดหลักการใหญ่ว่า ต้องไม่ทำลายหลักนิรันดรของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเป็นแนวป้องกันไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
ซึ่งแม้ว่าในร่างแก้ไขจริงอาจจะไม่ได้ระบุข้อความตามข้อห้ามที่บัญญัติดังกล่าวไว้โดยตรงก็ตาม แต่หากปรากฏว่า มีเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีผลขัดหรือแย้งกับข้อห้ามดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ขัดกับข้อห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 255 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะกระทำไม่ได้
ส่วนหลักการย่อยที่เกี่ยวกับวิธีการและเงื่อนไขในการแก้ไขนั้นเป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 256 โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามตินั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับเป็นเงื่อนไขทั่วไปว่า จะต้องทำการออกเสียงประชามติเสียก่อน แต่บังคับให้กระทำในกรณีที่เข้าเงื่อนไขเฉพาะตาม (8) เท่านั้น คือเมื่อร่างแก้ไขนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับ หมวด 1 (บททั่วไป)หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) หรือหมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเกี่ยวกับเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบในวาระสามแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
ดังนั้น หากการแก้ไขที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาตามเงื่อนไขดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องทำประชามติแต่อย่างใด และหากจะต้องทำก็ไม่ใช่ทำก่อนการแก้ แต่ให้ทำหลังจากการแก้ได้ผ่านการให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ในสภาแล้ว
เมื่อถามว่า ทั้งนายกฯและคนในรัฐบาลระบุชัดว่า ต้องทำประชามติถามประชาชนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึง เลือก สสร.มายกร่างใหม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น สามารถทำได้หรือไม่ สว.อนุพร กล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกสสร. ขึ้นมายกร่างนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการพูดถึงในเรื่องนี้ มีแต่ให้จัดทำร่างแก้ไขในรูปของญัตติเสนอต่อรัฐสภา โดยที่ญัตตินั้นจะต้องมาจาก 3 สาย คือ มาจากครม. มาจากสส.ไม่น้อยกว่าหนี่งใน 5 องสมาชิกสภาผู้แทน ฯ หรือจากสส.และสว.ไม่น้อยกว่า 1ใน5ของสมาชิกทั้งสองสภา และมาจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวเห็นว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ญัตติร่างแก้ไขฯ ต้องมาจาก 3 สายเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องมาจากสสร.ด้วย ส่วนในทางปฏิบัติหากเจ้าของญัตติในสายครม. จะเลือกสสร. ขึ้นมายกร่างให้แทน แม้ไม่มีข้อห้ามอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็มีข้อพิจารณาที่สำคัญด้วยเช่นกันว่า ครม.อาศัยอำนาจจากกฎหมายใดให้ทำการดังกล่าว
เนื่องจากการใช้อำนาจใดๆ ของครม.จะต้องมีที่มาจากฐานของอาณัติกฎหมายรองรับด้วยไม่สามารถอ้างเอาอาณัติการเมืองว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลมาใช้โดยลำพังได้
ที่สำคัญองค์กรสสร. เองนั้นทั้งสถานะและที่มาถือเป็นองค์กรการเมืองที่บทบาทและอำนาจหน้าที่ที่มีผลต่อการกำหนดสาระสำคัญของร่างแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่มีหลักประกันทางกฎหมายในการกำกับควบคุมการทำหน้าที่ของสสร.ว่าเป็นการทำตามเหตุผลและความต้องการทางการเมืองขององค์กรที่ก่อตั้งตน หรือทำตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งโดยสัญญาประชาคมซึ่งตั้งอยู่บนฐานเจตจำนงร่วมของส่วนรวมที่อยู่เหนือฝ่ายการเมืองใดหรือไม่ แม้จะอ้างว่าเป็นสิทธิของฝ่ายข้างมากก็ตาม แต่ไม่สามารถนำมาใช้กับกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ใช้ได้แต่กับเฉพาะกฎหมายธรรมดาทั่วไปเท่านั้น
เมื่อถามว่า มองอย่างไร หากจะต้องทำประชามติ ถึง 3 ครั้ง มีความเหมาะสม เวลาความเร่งด่วน และ งบประมาณ สว.อนุพร กล่าวว่า หากการทำประชามติ มากถึง 3 ครั้งนั้น จะเป็นภาระประมาณที่กระทบกับการจัดสรร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ทันกับความต้องการของประเทศและประชาชนที่มีลำดับความสำคัญและมีความเร่งด่วนอื่นที่มีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะการเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ของโควิด ปัญหาว่างงานจากการปิดกิจการ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนที่ผู้ปกครองต้องล้มเลิกกิจการหรือสูญเสียอาชีพจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินล้นพ้นจนต้องถูกยึดบ้านยึดรถ และความขัดสนฝืดเคืองในการดำรงชีพของประชาชน ล้วนมีความสำคัญที่ควรได้รับการเยียวยาแก้ไขก่อน
ทั้งนี้งบประมาณตามที่นายกฯได้ให้สัมภาษณ์ ประมาณการไว้ที่ครั้งละ 4,000-5,000 ล้านบาท ถ้าทำ 3 ครั้งต้องใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาท เมื่อพิจารณาประกอบกับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องใช้กับโครงการต่าง ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างเช่นการแจกเงินดิจิทัล ก็ยังถกเถียงเรื่องที่มาของงบประมาณกันอยู่ หากมองถึงกรณีความเร่งด่วนอาจมองได้ทั้งมุมที่จัดลำดับไว้ในนโยบายของรัฐบาล และมุมที่เป็นปัญหาความต้องการที่ประชาชน มีความคาดหวัง
สว.อนุพร ระบุว่า ถ้าหากจะถามความเห็นประชาชน ว่าอยากเลือกอะไรก่อน ระหว่างเรื่องปากท้องทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ของประชาชนโดยตรง กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นความต้องการและประโยชน์ทางการเมือง ก็พอจะคาดหมายได้ว่าประชาชนอยากได้อะไรก่อน อย่างไรก็ตามสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การทำประชามติ หากจำเป็นต้องทำจริงๆ กรณีที่การแก้ไขเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ก็สามารถทำเพียงครั้งเดียวได้ไม่ต้องทำถึง 3 ครั้ง
นอกจากนี้ สว.อนุพร ยังมองว่า ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ภาคการเมือง โดยพรรคการเมืองต่างๆ ได้เสนอแก้ไขไว้จำนวนมากแล้ว จึงขอให้เพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับภาคประชาชน และสังคมให้มากขึ้น ซึ่งควรหยิบยกมาพิจารณาเพิ่มเติมเช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สวัสดิการและสวัสดิภาพของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างความเป็นธรรมในสังคม การศึกษาฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีกับประชาชน แทนที่จะมุ่งแต่ในส่วนที่เป็นโครงสร้างทางการเมืองเป็นหลัก