ข่าว

'ก้าวไกล' เสนอมาตรการ ป้องกันเหตุ 'กราดยิง'

'ก้าวไกล' เสนอมาตรการ ป้องกันเหตุ 'กราดยิง'

04 ต.ค. 2566

เหตุ 'กราดยิง' ที่สยามพารากอน วานนี้ ถูกหยิบยกไปหารือในที่ประชุมสภาฯ โดยสส. 'ก้าวไกล' เสนอ 4 แนวทางป้องกันเหตุและมาตรการควบคุมที่เข้มข้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายปรึกษาหารือในประเด็นเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน เสนอ 4 แนวทาง ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต และบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าประกอบด้วย

ระบบแจ้งเตือนภัย  เหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอนเมื่อวานนี้ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่านข้อความจากหน่วยงานรัฐ โดยต้องใช้การแจ้งเตือนจากเอกชนหรือติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยของรัฐแบบ cell broadcasting ที่จะเป็นการส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ

 

การครอบครองอาวุธปืน -แม้ปืนที่ถูกใช้ก่อเหตุจะเป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรมีการศึกษาทบทวนเรื่องการครอบครองปืนทั้งระบบ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ต้องหาแนวทางปรับปรุงกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธมากขึ้นและมีกระบวนการที่รอบคอบมากขึ้น ปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางค้าขายปืนนอกระบบให้มีประสิทธิภาพขึ้น

มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนและประวัติผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยจะชี้ชัดว่าการประโคมข่าวลักษณะนี้มีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดเผยแพร่เรื่องราวของผู้ก่อเหตุ เพื่อส่งสัญญาณว่าการกระทำอันอำมหิตต่อเพื่อนมนุษย์แบบนี้ จะไม่มีวันทำให้ใครก็ตาม ได้แสงหรือความสนใจ แม้แต่นิดเดียว

 

สุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนอาจยังคงมีสภาพจิตใจที่ไม่เหมือนเดิม หรือมีอาการผวา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในการเข้าถึงช่องทางการฟื้นฟูและบำบัดสภาพจิตใจ

 

สส.ก้าวไกล เสนอแนวทางป้องกัน เหตุกราดยิง

 

นอกจากพริษฐ์ แล้ว ยังมีสส.ก้าวไกล อย่าง ธิษะณา ชุณหวัณ หารือในเรื่องเดียวกันนี้ โดยเห็นว่า เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ชี้ให้เห็นว่า มีความหละหลวมในเรื่องการควบคุมอาวุธปืนประดิษฐ์ ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาติ ทำให้ถูกนำไปก่อเหตุรวมถึงมาตรการตรวจรักษาความปลอดภัย ที่หละหลวม ทั้งที่มีเครื่องตรวจโลหะ