แกนนำเพื่อไทย ขอคนไทยเชื่อมั่น ‘เงินดิจิทัล’ เกิดประโยชน์-จีดีพีโต
แกนนำเพื่อไทย ชี้ รับฟังข้อเสนอแนะ ‘เงินดิจิทัล’ วอนคนค้านรับฟังเสียงประชาชน เผยลงพื้นที่มีแต่คำถาม ‘เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่น’ ยันต้องกระตุ้นพื้นฐานเศรษฐกิจให้แข็งแรง ดันจีดีพีโตระยะยาว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนักวิชาการ 99 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก เหตุได้ไม่คุ้มเสีย ว่า ตนเชื่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆอยู่แล้ว นักวิชาการออกมาคัดค้านถือเป็นสิทธิ รัฐบาลต้องรับฟัง
เช่นเดียวกับโพลมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและอีกหลายโพลที่ชี้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ต้องการให้นโยบายแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เกิดขึ้นโดยเร็ว ก็ต้องรับฟังด้วยเช่นกัน รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้สำเร็จ ทุกภาคส่วนทำงานกันอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ยึดตามกรอบวินัยการเงินการคลังและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทุกคนที่เป็นคณะกรรมการล้วนมาจากทุกภาคส่วนที่หลากหลายครอบคลุม เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนและมีส่วนร่วมในนโยบายนี้ สิ่งใดที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงโครงการของประชาชน ตนเชื่อว่ารัฐบาลพร้อมรับฟัง
“นโยบายเงินดิจิตอลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล หากมีข้อเสนอในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใด เพื่อให้นโยบายเดินหน้า ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลยินดีรับฟัง” นายอนุสรณ์ กล่าว
ปชช.ถาม เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่น
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการ และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า พรรคเพื่อไทยรับทราบถึงข้อคิดเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งมีทั้งบวกและลบจากทั้งนักวิชาการบางส่วน จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้
1.ที่มาของออกนโยบายดังกล่าว มาจากการที่พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ และพี่น้องเกษตรกร ต่างต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก จากปัญหาที่สะสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนสะดุดจนติดลบ จนทำให้หนี้ครัวเรือนปี 2563 พุ่งขึ้น 10 เท่าจากปี 53 และในไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 90.6% ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนมาถึงปัจจุบัน หนี้ที่เพิ่มขึ้นเพราะประชาชนอ่อนแอเปราะบาง เป็นที่มาของการ ‘ลดรายจ่าย’
2.จากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดพบว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ (fiscal multiplier) คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1-1.6 ล้านล้านบาท และประเมินจีดีพีไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ถึง 5-7% แม้ถูกมองว่าเป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการเริ่มต้นปูพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจในปี 2567 เพื่อที่ในปีต่อๆ ไป การลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามามากขึ้น เป็นที่มาของการ ‘เพิ่มรายได้’ ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ค่าแรง 600 บาทใน 4 ปี และเงินเดือนปริญญา 25,000 บาท ที่กำลังจะตามมา
3.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ยังมีหลากหลายโครงการที่รัฐบาลเตรียมการไว้ด้วยเช่นกัน เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์, โครงสร้างพื้นฐาน ที่ จ.ภูเก็ต, โครงการอีอีซี และระบบขนส่งมวลชนต่างๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สามารถดำเนินควบคู่กันไปกับโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
4.ขณะนี้ประเทศไทย อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กนง.ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 0.25% เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดกัน 8 ครั้ง นับตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2565 อาจส่งผลให้การลงทุน และการส่งออกของไทยหดตัวลงได้ ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ควบคู่การลดรายจ่ายให้กับประชาชนระดับฐานรากของสังคม และการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เป็นทางออกที่เหมาะสม และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้
“พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล มองภาพใหญ่ มองภาพรวม ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ที่ สส.พื้นที่เราได้รับฟังเสียงสะท้อนมาตลอด ที่ผ่านมา ไม่มีใครบอกว่าไม่อยากได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท มีเพียงคำถามว่า ‘เมื่อไหร่จะได้เงินหมื่น?’ ข้อกังวล เรารับทราบ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการเราเปิดรับเสมอ แต่อยากให้คนที่คัดค้าน ฟังเสียงประชาชนร่วมด้วย คนที่เขารอรับ เขาอาจเสันงไม่ดังเหมือนพวกท่าน แต่พวกเขาเดือดร้อนและรออยู่” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวสรุป