ข่าว

50 ปี '14 ตุลา'  บทเรียนเขียน 'รัฐธรรมนูญ' ใหม่

50 ปี '14 ตุลา' บทเรียนเขียน 'รัฐธรรมนูญ' ใหม่

14 ต.ค. 2566

เขียน 'รัฐธรรมนูญ' ใหม่ ไล่เผด็จการ 50 ปี '14 ตุลา' ประชาธิปไตย ยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน ก้าวไกลนิรโทษกรรมคดีความเห็นต่างทางการเมือง

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลมองว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา มีความสำคัญหลายมิติ โดยการเมืองภาพใหญ่ถือว่าได้รับการปฏิวัติของประชาชน ที่มีมวลชนออกมาขับไล่เผด็จการ และเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย , ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

 

หลังจากประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการมาอย่างยาวนาน จนมาถึงปัจจุบันโจทย์ในทางการเมืองของประชาธิปไตยหลายเรื่องต้องผลักดันต่อไป

 

รำลึก 50 ปี 14 ตุลา

เหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่มาถึงวันนี้สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะการแสดงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดยสันติ โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

 

ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็มีความเชื่อทางการเมืองของตัวเอง และได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนั้น มีทั้งเสียชีวิต ดำเนินคดี ถูกจำคุกจำนวนมาก พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง

 

เพราะถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับว่าคนที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่อาชญากร แต่แค่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน ควรนิรโทษกรรมเพื่อเปิดประตูบานแรก ให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาคุยกัน

ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างร้ายแรง ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นการถูกประกันตัวมาสู้คดี เพียงแค่การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นโจทย์เรื่องสิทธิเสรีภาพที่ต้องให้ความสำคัญ และผลักดันให้ประเทศสู่ประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน

 

ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา เรื่องรัฐธรรมนูญ ยังเป็นเรื่องใหญ่ การออกแบบระบบการเมือง ซึ่งการรณรงค์ให้ทำประชามติว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

 

ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญมีการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดขึ้นจริง จึงทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีชีวิต แม้จะมีตัวอักษร