ข่าว

'ประชาธิปัตย์' ตามอัดโครงการ 'เงินดิจิทัล'

'ประชาธิปัตย์' ตามอัดโครงการ 'เงินดิจิทัล'

22 ต.ค. 2566

เดินหน้า 'เงินดิจิทัล' ควรต่อยอดจากแอปฯเป๋าตัง 'ประชาธิปัตย์' กลัวเรื่องทุจริต แนะยิงตรงเป้า แจกหว่านแห ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ

ชนินทร์ รุ่งแสง อดีตกรรมการบริหาร พรรคประชาธิปัตย์หนุนใช้แอพเป๋าตังของเดิม หากรัฐตัดสินใจเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัล ไม่ต้องเสียเงินทำระบบใหม่ เพราะทำให้สิ้นเปลืองแถมเสี่ยงทุจริต

 

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 5.6 แสนล้านบาท มีข่าวว่าการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปต่อไม่ได้ เพราะมีหลายหน่วยงานราชการมีความเห็นในที่ประชุมไม่สอดคล้องกับนโยบาย

 

รัฐบาลควรนำความเห็นจากหน่วยงานในที่ประชุมไปพิจารณาหรือเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย เพื่อความรอบคอบจากทุกๆคนที่ติดตาม จะได้มีข้อมูลความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ทำให้ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มที่เปราะบางที่ลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงขึ้นได้

 

ประกอบกับหน่วยงาน นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวคูณทางการคลังของโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้อยู่ที่ราว 0.3-0.9 สะท้อนการใช้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

 

ดังนั้น ไทยจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะโดนลดระดับความน่าเชื่อถือ หากมีการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตแล้วไม่ได้ผลมาก ตามที่รัฐบาลประเมินไว้ หากโดนลดเกรดจริงๆ อาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศและภาคเอกชนสูงขึ้น นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจ ส่งผลให้การลงทุนในประเทศลดลงทั้งในเศรษฐกิจจริงและตลาดทุน  

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 3.4% และได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปี 2567 ลงสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.6%  โดยระบุถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

 

อีกทั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch และ Moody’s มีสมมติฐานว่าภาครัฐจะคงสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ได้ในระยะถัดไป แต่ระบุชัดเจนว่าหากเสถียรภาพทางการคลังแย่ลงจากที่ประเมินไว้มาก ก็จะเป็นสาเหตุให้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ลงได้

 

อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าหากจำเป็นต้องทำโครงการเงินดิจิทัลต่อ ต้องแจกให้ถูกคน กำหนดการใช้จ่ายให้ชัดเจนกระจายถึงตรงต่อเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ การเหวี่ยงแหแจก เสี่ยงที่เงินจะไม่หมุนเวียน เพราะคนมีฐานะดีก็จะไม่ใช้จ่ายทันทีหรือนำเงินแจกไปใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นตรงกำกับวัตถุประสงค์โครงการ

 

ที่สำคัญต้องไม่ใช้งบประมาณลงทุนทำบล็อกเชนหรือแพลทฟอร์มใหม่ นอกจากจะไม่จำเป็น และสิ้นเปลือง ยังเสี่ยงกับการทุจริตในการจัดจ้างจัดซื้อได้ ควรใช้แพลตฟอร์มเก่า เช่น เป๋าตังของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่แล้วทำให้สมบูรณ์และเหมาะสมกับโครงการ