เปิดบัญชี 'มาเฟีย' ทั่วไทย 10 จังหวัดสีเขียว พบ 180 กลุ่มผู้อิทธิพลสีแดง
'กมธ.ปกครอง' เปิดข้อมูล 'มาเฟีย' ทั่วไทย พบ '10 จังหวัดสีขาว' อีก ' 66 จังหวัด' กลุ่มสีเหลือง พบผู้มีอิทธิพลระดับสีแดง 180 รายชื่อ จี้ มหาดไทย วางนโยบายปราบปราม ชม 'ชาดา' มีสปิริต แม้ลูกเขยโดนจับก็ไม่ยกเว้น
25 ต.ค. 2566 นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมาธิการฯ ที่มีวาระสำคัญในการพิจารณาศึกษามาตรการจัดระเบียบสังคม และการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยมีการเชิญ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนของอธิบดีกรมการปกครอง มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ
ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงในที่ประชุมว่า ได้มีการส่งหนังสือให้แต่ละจังหวัดส่งรายชื่อ และคัดกรองผู้ที่มีอิทธิพลทั่วประเทศไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยพบจังหวัดสีเขียว ปลอดผู้มีอิทธิพลจำนวน 10 จังหวัด ซึ่งไม่สามารถระบุชื่อจังหวัดได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลความลับทางราชการ และ 84 อำเภอใน 66 จังหวัด เป็นจังหวัดสีเหลือง มีผู้อิทธิพล 805 รายชื่อ แบ่งเป็น 180 รายชื่อ เป็นผู้มีอิทธิพลสีแดง มีพฤติการณ์ใช้อิทธิพลในพื้นที่ และ 625 รายชื่อ เคยมีอิทธิพล และไม่มีพฤติการณ์ใช้อำนาจข่มเหงรังแกประชาชน ซึ่งมีการเฝ้าดูพฤติกรรมใกล้ชิด
ส่วนคำจำกัดความผู้มีอิทธิพลของกระทรวงมหาดไทยนั้น นายกรวีร์ ระบุว่า ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า เป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่มีการกระทำ หรือสั่งการให้กระทำละเมิดกฎหมาย ใช้อำนาจการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม และปัจจัยอื่นไปข่มเหงรังแกประชาชนให้เดือดร้อน ทั้งทางกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สิน ซึ่งการกระทำผิดกฎหมายนั้น มีทั้งหมด 16 มูลฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยจะต้องเป็นการใช้อำนาจ กระทำผิดกฎหมาย ข่มเหงรังแกให้ประชาชนเดือดร้อน ก็จะเข้าข่ายการเป็นผู้มีอิทธิพล
นายกรวีร์ ยังระบุด้วยว่า หลังจากนี้ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง ยืนยันว่า การดำเนินการหลังจากได้รายชื่อทั้งหมดแล้ว กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ยังอยู่ระหว่างการคัดกรอง และรวบรวมรายชื่อผู้มีอิทธิพล และรอฝ่ายบริหาร หรือคณะกรรมการ กำหนดนโยบายการจัดการกับผู้มีอิทธิพลต่อไป ทั้งการจับกุม ปราบปราม หรือพูดคุยให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว
นายกรวีร์ เปิดเผยอีกว่า กรรมาธิการฯ ได้เน้นย้ำถึงการคัดเลือก และการจัดทำรายชื่อ จะต้องดำเนินการไปด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช้อำนาจรัฐของฝ่ายปกครอง ไปกลั่นแกล้งทางการเมือง และให้มีการประเมินผลการปราบปรามผู้มีอิทธิพลด้วย
ส่วนกรณีการเกิดเหตุกรณีที่นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศมนตรีตำบลตลุกดู่ จ.อุทัยธานี ลูกเขยของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นั้น นายกรวีร์ ยอมรับว่า กรรมาธิการฯ มีการพูดคุยกัน ซึ่งจะเข้าข่ายการเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่นั้น ก็จะต้องไปพิจารณาตามคำจำกัดความของการเป็นผู้มีอิทธิพล และจะต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล ซึ่งอาจจะมีความผิดจริง แต่จะเข้าข่ายการเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่คุกคามรังแกประชาชนหรือไม่ หากไม่มีก็ไม่เข้าข่าย
นายกรวีร์ ยังชื่นชมในสปีริตของนายชาดา และถือเป็นมิติใหม่ถึงการเมือง เพราะมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมการนำนายชาดา มาปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้นเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งแม้จะเป็นลูกเขย และใกล้ชิดรัฐมนตรี ก็มีความเด็ดขาด ไม่ได้รับการละเว้น และนายชาดา ก็ยินดีกับการตรวจสอบทั้งหมดโดยไม่ต้องเกรงใจ