‘จเด็จ อินสว่าง’ ข้องใจ ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร
'จเด็จ อินสว่าง' ลุกถามกลางที่ประชุมสภา 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ' ประชาชนได้ประโยชน์อะไร มองแค่ "แก้เอามัน" และยิ่งสร้างความแตกแยก บอก สว.ค่อนสภาไม่เอาแก้รธน.ทั้งฉบับแน่
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ขอรับฟังความเห็นของวุฒิสภาเพื่อ นำไปสู่การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า คำถามหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดกันให้ประชาชนทราบคือ จะแก้ไข รัฐธรรมนูญไปทำไมประชาชนได้ประโยชน์อะไร ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้ช่วยไตร่ตรองให้ดีว่าอะไรที่ทำแล้วเพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติก็ควรทำ
แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นว่า แก้แล้วจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นยุทธศาสตร์ของชาติดีขึ้น แต่เป็นการแก้ “เอามัน”เท่านั้น ไม่ใช่แก้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญและหากกังวลเรื่องของอำนาจ สว. ชุดนี้ บทเฉพาะการก็จะหมดในเดือนพฤษภาคม ปีหน้าแล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน จึงไม่ต้องกังวล และมองว่าในทางตรงกันข้าม การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นต่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีและก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคนในชาติ
“ที่สำคัญอยากให้วกกลับไปอีกทีว่าประชาชนและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันหลักของชาติ ชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้อะไรขึ้นมาซึ่งขณะนี้เราอยู่อย่างมีความสุขและมีความมั่นคงแล้ว”นายจเด็จ กล่าว
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองประกาศไว้ในนโยบาย และจะให้มีสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะทำอย่างไรนั้น นายจเด็จ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่พรรคการเมืองประกาศแล้ว ตอนนั้นลืมประกาศว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์อะไร ประชาชนได้อะไร และยิ่งต้องไปทำประชามติ จะยิ่งทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง ดังนั้นจึงอยากให้คิดดูให้ดี ดังนั้นทางออกตรงนี้คือควรต้องพูดคุยและหามุมมองกันไป เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้วคงไม่ไปถึงขั้นได้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะยิ่งทำอย่างนั้น จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่พูดจากันมานานแล้ว
ส่วนที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี2560 มาจากการทำรัฐประหารจึงต้องให้มีการยกร่างใหม่นั้น เป็นการพูดวนอยู่อย่างนี้ และมองว่าแม้มาจากการทำรัฐประหารแต่รัฐธรรมนูญปี2560 ก็มาจากการทำประชามติเช่นกัน และมาจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพูดวนกันไปกันมา แต่ประชาชนนั่งมองอยู่ว่า เมื่อไหร่เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น คนทำงานจะเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ค่ารถไฟฟ้าค่าน้ำมันจะลดลง เมื่อไหร่ที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ในหลายๆด้าน ควรมาพูดกันตรงนี้ดีกว่า
เมื่อถามว่าหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกร่างใหม่เข้าสภาจะเห็นชอบหรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ หรือจะแก้รายมาตรา หรือจะแก้หมวดไหน ตนก็จะอภิปรายว่าหมวดไหนที่จะแก้ อะไรเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับตนไม่เอาด้วยอยู่แล้ว
เมื่อถามว่ามีสว.ที่คิดแบบนี้จำนวนเท่าไหร่นั้นนายจเด็จ กล่าวว่าค่อนสภา แต่อย่าให้ตนต้องตอบตรงๆว่าในนามของสว.คิดอย่างไร ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะบอกว่าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ก็จะยังไม่เห็นด้วยหรือไม่ นายจเด็จกล่าว ว่าก็ต้องดู ความจริงแล้วถ้าพูดถึงหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีกว่า 38 มาตรา หลีกเลี่ยงยากเพราะฉะนั้นมีหลายอย่างที่ควรต้องคำนึงให้เยอะๆ และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะได้อะไรขึ้นมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ