'ผลงานรัฐบาล' แค่ 60 วัน ยังพิสูจน์ไม่ได้
แค่ 60 วันไม่พอ 'ก้าวไกล' ให้รออีก 6 เดือน พิสูจน์ 'ผลงานรัฐบาล' เป็นรูปธรรมหรือไม่ พร้อมกางปฏิทินการเมืองรอพิสูจน์จุดยืน
พริษฐ์ วัชระสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล มองว่าการแถลงผลงานรัฐบาลในช่วง 60 วันแรกค่ำวานนี้ ไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าผลงานของรัฐบาลในห้วง 60 วันที่ผ่านมา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน ตามที่ประชาชนคาดหวังได้จริงหรือไม่ เนื่องจากบทพิสูจน์ที่แท้จริง น่าจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือน ข้างหน้า (ธ.ค. 66 - พ.ค. 67) ที่อยากชวนประชาชนทุกคนร่วมกันจับตามองประกอบไปด้วย
- มาตรการ “quick wins” ของรัฐบาล ที่เป็นการลดค่าครองชีพ จะถูกพิสูจน์ว่ามีความยั่งยืนหรือไม่
ค่าไฟที่ลดไปได้ด้วยการยืดหนี้ กฟผ. มีความเสี่ยงจะเด้งกลับขึ้นมาหากไม่มีปรับโครงสร้างราคา-ตลาด - ค่าน้ำมัน ที่ลดไปได้ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต จะเจอแรงกดดันหลายทางจากรายได้รัฐที่หายไปและราคาน้ำมันที่อยู่ในขาขึ้น
ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ทำสำเร็จในสายสีม่วงกับสีแดง จะถูกพิสูจน์ว่าสามารถขยายไปสู่สายที่มีผู้โดยสารใช้เยอะที่สุด เช่น สายสีเขียว ได้หรือไม่ - นโยบายเรือธงที่เดิมพันสูงอย่าง เงินดิจิทัล 10,000 บาทจะเริ่มดำเนินการและเริ่มเห็นผลลัพธ์เบื้องต้น
รายละเอียดทั้งหมดของโครงการจะถูกเคาะ เช่น เงื่อนไขการใช้จ่ายของประชาชน / เงื่อนไขการแปลงเป็นเงินสดของร้านค้า / เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่จะใช้ - โดยหลายส่วนน่าจะรวมอยู่ในแถลงบ่ายนี้ ซึ่งจะทำให้การประเมินข้อดี-ข้อเสียนโยบาย ทำได้บนข้อมูลที่ครบถ้วน
ในส่วนของประโยชน์ หากเริ่มแจกได้จริงใน ไตรมาส 1 ของ 2567 ตามที่เคยสัญญา เราจะเริ่มเห็นถึงผลกระทบเบื้องต้นต่อการใช้จ่ายและการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
ในส่วนของต้นทุน หากยังเป็นการให้ประชาชนทุกคน 10,000 บาท ตามที่เคยสัญญา เราจะเห็นว่างบประมาณ 560,000 ล้านบาทที่ต้องใช้ จะมาจากช่องทางไหน และแลกมาด้วยอะไร เช่น การปรับลดงบส่วนอื่น? ผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง? - นโยบายหลักด้านการเมือง จะเจอเส้นตาย ที่ทำให้เห็นการตัดสินใจของรัฐบาล
รัฐธรรมนูญ: ภายใน ม.ค. 67 รัฐบาลจะต้องมีข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ ว่าจะเดินหน้าต่อเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร ประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นหรือไม่-ด้วยคำถามแบบไหน และรัฐบาลคาดว่าประเทศจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเมื่อไหร่
เกณฑ์ทหาร: ภายใน เม.ย. 67 เราจะเห็นว่าประเทศจะยังมีเยาวชนกี่คนที่ถูกบังคับไปเป็นทหารโดยที่ไม่อยากเป็น ซึ่งจะแปรผันตามเจตจำนงของรัฐบาลในการลดหรือเลิกการเกณฑ์ทหาร
กฎหมาย 30+ ฉบับที่ก้าวไกลเสนอ จะเรียงกันเข้าสภาฯมาเป็น คลื่น ที่ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะมีจุดยืนอย่างไรในหลายประเด็นที่รัฐบาลยังไม่แสดงออก เช่น เห็นด้วยกับร่างก้าวไกล vs. เสนอร่างของ ครม. เอง ที่แตกต่างออกไปในรายละเอียด vs. ไม่เห็นด้วยทั้งหมด
ปฏิทินการเมืองจะมีหมุดหมายสำคัญหลายเหตุการณ์ ที่เป็นบทพิสูจน์เสถียรภาพและความเป็นเอกภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เช่นพ.ร.บ. งบประมาณ 2567 ซึ่งจะพิจารณาในสภาฯช่วง ม.ค.-เม.ย. 67 จะเป็นบทพิสูจน์ว่างบประมาณจะถูกจัดสรรให้กับนโยบายของทุกพรรคร่วมรัฐบาล อย่างเป็นธรรมและเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกพรรคหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขว่างบประมาณจำนวนมากต้องใช้ไปกับนโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคแกนนำฯ
การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็น ตามมาตรา 152 ที่เป็นการซักถาม-เสนอแนะ หรือ ตามมาตรา 151 ที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจซึ่ง คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนปิดปีแรกของการประชุมสภา (เม.ย. 67) และจะเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้
การหมดอายุลงของบทเฉพาะกาลของ รธน. 2560 ซึ่งรวมถึง อำนาจ สว. ในการเลือกนายกฯ ตาม มาตรา 272 ในเดือน พ.ค. 67 จะทำให้เงื่อนไขสำคัญที่พรรคแกนนำเคยอ้างว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องรวมตัวกับพรรคอื่นที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันในอดีต หายจากสมการ
60 วัน ที่ผ่านมา ยังพิสูจน์ผลงานรัฐบาลได้ยาก แต่ 6 เดือน ข้างหน้า จะเป็นบทพิสูจน์จริง