ข่าว

ชวนสส.โหวตคว่ำ 'พ.ร.บ.กู้เงิน' สนองนโยบาย 'เงินดิจิทัล'

ชวนสส.โหวตคว่ำ 'พ.ร.บ.กู้เงิน' สนองนโยบาย 'เงินดิจิทัล'

21 พ.ย. 2566

กระตุก 'เงินดิจิทัล' ประชาธิปัตย์ ชวนสส.โหวตคว่ำ 'พ.ร.บ.กู้เงิน' เหตุไม่มีวิกฤตตามเงื่อนไขวินัยการเงินการคลัง

ชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนโหวตไม่เห็นด้วย หากมีการเสนอพ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัล เข้าสภา เพราะสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศ ทั้งที่นายกฯเคยระบุว่า จะไม่กู้เงินมาแจกประชาชน ซ้ำยังเป็นการกู้เพื่อสนองนโยบายพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่เหมือนการกู้เงินในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กู้มาแจกให้กับประชาชน เป็นช่วงวิกฤตโควิดซึ่งเกิดวิกฤตจริง

 

แต่วันนี้ประเทศไม่ได้เกิดวิกฤตแบบนั้น อีกทั้งยังมีคนไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินถึง 5 คน เพื่อให้วินิจฉัยว่าการกู้เงินครั้งนี้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 และ พ.ร.บ.วินัยงานเงินการคลังข้อที่ 53 หรือไม่

สมชัย ศรีสุทธิยากรที่ปรึกษา กมธ.ติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ตัวเลขที่สภาพัฒน์ระบุว่า GDP. ไตรมาส 3 ของไทยโตแค่ 1.5% หากดูกันละเอียด ๆจะเห็นว่าการบริโภคของประชาชน ที่ 3 ไตรมาส โตขึ้นนมาตลอดจาก 5.8 เป็น 7.8 และ 8.1  แปลว่า ประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเครื่องยนต์ที่ห่วยสุดคือ การอุปโภครัฐบาล ที่ติดลบทั้ง 3 ไตรมาส คือ -6.3 , -4.3 และ -4.9 มองละเอียดลงไปที่การลงทุนภาครัฐ 3 ไตรมาส คือ +4.7 , -1.1 และ -2.6

 

ตัวเลขทางเศรษฐกิจ จากการแถลงข่าว ของสภาพัฒฯ

 

ในขณะที่การส่งออกบริการยังเป็นบวก แต่มีแนวโน้มลดลง ส่วนการส่งออกสินค้าเป็นลบ  แต่เป็นภาวะที่เหมือนกันทั่วโลก  การส่งออกไทยโดยรวมได้ 2.1 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ แดงเถือก  ต้องเร่งการอุปโภคและการลงทุนภาครัฐ  เร่งรัดงบประมาณประจำปี ที่ช้าถึง 7 เดือน อย่าให้ช้าออกไปอีก

 

ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ให้เตรียมพร้อม  เมื่องบผ่านสภาเดือนเมษายน 2567 ก็จะได้รีบดำเนินการ  ไม่ใช่ค่อยไปเตรียม Spec. กันช่วงนั้น  มิเช่นนั้น งบลงทุนภาครัฐไตรมาส 3-4 ปี 2567 ก็ยังติดลบ ทั้งหมดนี้สภาพัฒน์ฯ เขาบอกไว้หมด  แต่รัฐบาลเลือกฟังและมาขยายต่อเฉพาะที่เข้าทาง

ขณะที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มซบเซาหนัก หลังจากสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ขยายได้เพียง 1.5% หลังจากไตรมาส 2 ขยายได้ 1.8% และไตรมาสแรกขยายได้ 2.7%

 

โดย 9 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.9% เท่านั้น ซึ่งเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 อาจจะขยายได้ไม่ถึง 2% การที่สภาพัฒน์ฯ ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่าจะขยายได้ 2.5% ไม่น่าจะทำได้จริง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายจะต้องขยายตัวอย่างน้อย 4.3% ซึ่งจากแนวโน้มปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 10 ปีเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.8 - 1.9% เท่านั้น ซึ่งต่ำมากและต่ำที่สุดในอาเซียน ไทยถูกขนานนามจากสื่อต่างประเทศว่าเป็นคนป่วยของเอเซียตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดเสียอีก และเป็นการยืนยันการอยู่ในภาวะกบต้ม เป็นตามทฤษฎีกบต้มที่เคยเตือนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2559 และ ถูกพลเอกประยุทธ์ส่งคนมาฟ้องร้องในปี 2560 เป็นหลักฐานการเตือน 

 

ในภาวะเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง  เงินเฟ้อของไทยติดลบ -0.31% หรือ เข้าสู่ภาวะเงินฝืด หนี้สาธารณะพุ่งถึง 62.14% หนี้ครัวเรือน 91.6% ของจีดีพี การส่งออกติดลบ และ นักท่องเที่ยวไม่ได้เข้ามาตามคาดหมาย จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากภาวะกบต้ม