'สมศักดิ์' ลุยแก้หนี้ชายแดนภาคใต้ หลัง กพต.ไฟเขียว แผนขจัดความยากจน 4 ปี
'สมศักดิ์' แนะ ชาวบ้านชายแดนภาคใต้ปลูกทุเรียน-เลี้ยงโค-ไก่-แพะ-ปูทะเล แก้หนี้ภายใน 2570 พบข้อมูลยากจน 107,356 คน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้ให้ความเห็นชอบ "กรอบแนวทางการบูรณาการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนใต้ ระยะ 4 ปี 2567-2570" แล้ว
จากข้อมูลที่นายสมศักดิ์ได้มอบหมายให้ไปสำรวจความยากจนในพื้นที่ พบว่า มีครัวเรือนยากจนถึง 52,117 ครัวเรือน เป็นจำนวนคนกว่า 107,356 คน ดังนั้น จะมีการช่วยแก้ปัญหานำร่องก่อนจำนวน 14,500 ครัวเรือน เป็นจำนวนคนกว่า 30,000 คน และจะมีการดำเนินการช่วยเหลือทั้งหมดในปี 2570
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจครัวเรือนยากจน ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านอาชีพและพัฒนาทักษะด้านต่างๆ โดยพบว่า อันดับแรกคือ รับจ้างทั่วไปนอกภาคการเกษตร จำนวน 10,136 คน อันดับสอง รับจ้างภาคการเกษตร จำนวน 4,603 คน แบ่งเป็น พืชเกษตร จำนวน 3,770 คน ประมง 316 คน และปศุสัตว์ 517 คน ส่วนอันดับสามคือ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ช่างเสริมสวย จำนวน 3,843 คน
นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบ กลุ่มครัวเรือนเป้าหมายว่างงานอีกจำนวน 3,675 คน และพบกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในปัจจัยพื้นฐาน อาทิ บ้านทรุดโทรม ไม่มีห้องส้วมสะอาด ไม่มีประปา ไม่มีไฟฟ้า จำนวน 38,875 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการบูรณาการขจัดความยากจนในปีนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเน้นการช่วยเหลือในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ เช่น ส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยให้ปลูกทุเรียนคุณภาพและมังคุด จำนวน 250 ครัวเรือน ปลูกพืชระยะสั้นและพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ว่างเปล่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1,850 ครัวเรือน ปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารสัตว์ จำนวน 400 ครัวเรือน
ขณะที่ด้านปศุสัตว์ สร้างอาชีพด้วยการเลี้ยงโค ไก่ แพะ จำนวน 800 ครัวเรือน และด้านประมง สร้างอาชีพด้วยการเลี้ยงปูทะเล และประมงพื้นบ้าน จำนวน 500 ครัวเรือน รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อประกอบอาชีพตามถนัด เช่น การทำอาหาร มัคคุเทศน์ ท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 1,060 ครัวเรือน และจัดส่งไปทำงานในโรงงานทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 430 คน
ที่ผ่านมานำร่องเลี้ยงโค 200 ครอบครัว ให้ครอบครัวละ 2 ตัว ซึ่งผ่านมา 4 ปี กลายเป็นมีโคครอบครัวละ 10 ตัวแล้ว จากนั้น ก็ได้นำร่องเลี้ยงโค ผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 1,000 ครอบครัว ได้วัว 2,000 ตัว ผ่านมา 1 ปี 2 เดือน โคมีลูกแล้ว 1,900 ตัว สามารถทำตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจน เพราะโคออกลูกทุกปี ดังนั้นจะผลักดันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อ รวมถึงจะส่งเสริมการเลี้ยงปูไข่ด้วย เพราะมีราคาสูง 2 ตัว จะหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 600 บาท
“การแก้ปัญหาความยากจน ผมพยายามผลักดันมาโดยตลอด เพราะเข้าใจความเดือดร้อนเป็นอย่างดี จึงได้เสนอโครงการโคล้านตัว เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้น พยายามพูดให้คนในเมืองเข้าใจ แต่ก็ไม่เข้าใจ จนถูกมองไม่ดี แต่ผมก็ไม่ท้อ จึงหาเอกชนมาช่วยกันส่งเสริมอาชีพ" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว