ข่าว

พายัพ อดีตนักโทษการเมือง ปี 52 ย้อนประสบการณ์รักษาตัว ป้อง 'ทักษิณ'

พายัพ อดีตนักโทษการเมือง ปี 52 ย้อนประสบการณ์รักษาตัว ป้อง 'ทักษิณ'

11 ธ.ค. 2566

ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี อดีตนักโทษการเมืองปี 52 เจ้าของประสบการณ์ติดคุกเรือนจำพัทยา จากคดีชุมนุมทางการเมือง "พายัพ ปั้นเกตุ" ย้อนประสบการณ์สมัยถูกคุมขังและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จากโรคประจำตัว มองกรณี "ทักษิณ ชินวัตร" คือสิทธิขั้นพื้นฐาน

นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย)   เปิดเผยว่า  กรณีมีกลุ่มมวลชนไปเรียกร้องที่โรงพยาบาลตำรวจ และกล่าวหา  นายทักษิณ ชินวัตร   อดีตนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการรักษาพยาบาล   เรื่องนี้นายทักษิณ   เดินทางกลับประเทศไทยและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อรับโทษ โดยผ่านการตรวจคนเข้าเมืองและไปรายงานตัวรับโทษ จากนั้นก็เข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่เมื่อสถานพยาบาลแดน 7 พิเศษกรุงเทพฯ ตรวจร่างกายและอาการป่วยแล้ว พบว่านายทักษิณ เป็นผู้สูงอายุ อายุเกิน 70 ปี มีอาการป่วยเรื้อรัง มีโรคประจำตัวหลายโรค

 

 

 

 

แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์เฝ้าดูอาการระยะหนึ่งแล้วมีความเห็นว่า อาการน่าวิตกกังวล เกินขีดความสามารถที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะรับรักษาตัวได้ จึงส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และตรวจพบว่ามีโรคเรื้อรังหลายโรคที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะโรคหัวใจ ประกอบกับคนไข้เป็นผู้สูงอายุ มีอายุเกิน 70 ปี สภาพร่างกายไม่แข็งแรงเพียงพอ แม้คนไข้จะออกกำลังกายและดูแลตนเองอย่างดีก็ตาม  

 

 

 

นายทักษิณ ได้เข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง จากหลายอาการ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นสิทธิของผู้ต้องขังหรือนักโทษที่กรมราชทัณฑ์ถือปฏิบัติมิใช่เป็นเรื่องอภิสิทธิ์ชน ตามที่มีผู้กล่าวกันอยู่ในขณะนี้ใดๆ ทั้งสิ้น  ตนเคยเป็นนักโทษชาย (นช.) ติดคุกที่เรือนจำพัทยา คดีชุมนุมทางการเมืองปี 2552 ซึ่งตนมีโรคประจำตัวเรื้อรังหลายโรค โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์และพยาบาลในเรือนจำ ก็ได้มีการตรวจดูอาการเช่นกัน และได้ให้อยู่ในการดูแลของสถานพยาบาลในเรือนจำ

 

 

ตนเคยมีอาการโรคหัวใจกำเริบ ต้องปั๊มหัวใจในเรือนจำ แต่ไม่มีเครื่องมือแพทย์และขาดแพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำ จึงปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลบางละมุง เมื่อมีอาการหัวใจหยุดเต้นอีก สุดท้ายก็ต้องส่งตัวเข้าเรือนจำในกรุงเทพมหานคร และไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเช่นกัน  

 

 

 

"ผมต้องออกมาพูดทำความเข้าใจกับสังคมว่า คนคุกมีความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตมากน้อยเพียงใด และการรักษาอาการป่วยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้จะเป็นผู้ต้องขังหรือนักโทษที่จะได้รับการรักษาพยาบาลจากอาการป่วย ซึ่งเป็นหลักการสากล " นายพายัพ  ระบุ