'ผู้ค้ายางพารา' แฉฮั้วประมูล 'ถนนแอสฟัสท์ติกคอนกรีต' ทำรัฐเสียหาย 100 ล้าน
'ผู้ประกอบการยางพารา' ขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนแอสฟัสท์ติกคอนกรีต หลังพบTOR เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์บางราย ทำรัฐเสียหาย 100 ล้าน
นายวิทยา คุณโรจน์วิมุติ เป็นตัวแทน นายสมัตถ์ ชมชื่น ผู้ประกอบการค้าน้ำยางพารา ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ประจำรองนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งเบาะแสการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 จังหวัดและขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบ หลังพบข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะราย ในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างถนนแอสฟัสท์ติกคอนกรีต เมื่อปี 2565 เป็นเหตุให้ประเทศได้รับความเสียหาย ต้องเสียรายได้งบประเทศแผ่นดิน มากกว่า 100 ล้านบาท
นายวิทยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบมีการกำหนดขอบเขตและรายละเอียด TOR ของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง มีเงื่อนไขข้อหนึ่งของผู้เสนอราคาระบุว่า จะต้องแนบเอกสารประกอบการยื่นเสนอราคา คือ เอกสารรับรองจากผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตร "น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม"
จึงทำให้ผู้รับเหมา ที่ไม่มีเอกสารจากผู้ประกอบการ ที่ถือสิทธิ ในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเข้าประกวดราคาได้ และผู้ประกอบการค้าน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มที่ทำการค้ากับผู้รับเหมา ไม่สามารถจำหน่ายน้ำยางพาราได้ โดยนายสมัตถ์ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่สามารถยื่นประกวดราคาได้เช่นกัน
สำหรับโครงการประกวดราคา นายวิทยา ตรวจสอบพบ ว่า อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน10จังหวัด คือ ศรีสะเกษ ราชบุรี อำนาจเจริญ หนองคาย ยโสธร ขอนแก่น กาญจนบุรี ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ดังนั้นต้องการให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการช่วยตรวจสอบใน 5ประเด็น คือ
1.ส่วนท้องถิ่น สามารถกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง งานก่อสร้างถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต โดยมีเงื่อนไขเป็นการเฉพาะ คือ ผู้เสนอราคา จะต้องแนบเอกสารรับรองจากผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มได้หรือไม่
2.ผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม เป็นบุคลคลหรือนิติบุคคลใด
3.เหตุใดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้นำเลขที่คำขออนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม ไปใช้ระบุเป็นข้อกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ดังกล่าว ทั้งที่เป็นเพียงคำขอ ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
4.การกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขเป็นการเฉพาะ ในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มรายหนึ่งเพียงรายเดียวหรือไม่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มีบริษัทผู้ผลิตที่ผ่านการรับรองคุณภาพวัสดุผลิตภัณฑ์น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม จากการยางแห่งประเทศไทย จำนวนมากถึง 13 แห่ง ซึ่งการกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ของโครงการจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะเช่นนี้ ถูกบังคับให้ผู้เสนอราคาต้องซื้อน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม จากผู้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตรรายนี้เพียงรายเดียวเท่านั้นหรือไม่
5.การที่ส่วนท้องถิ่นได้กำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) โดยมีเงื่อนไขเป็นการเฉพาะไว้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย นั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และผู้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดอาญา หรือความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่ อย่างไร
ด้านนายกองตรีธนกฤต เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะดำเนินการส่งเอกสารและหลักฐานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน , สำนักงานงบประมาณ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ให้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวว่ามีการ "ฮั้วประมูล" จริงหรือไม่ หากพบว่ามีมูลความผิดก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI เข้ามาดำเนินการรับผิดชอบ นอกจากนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบน้ำยางพาราของบริษัทดังกล่าวว่ามีคุณสมบัติและได้คุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่
ขณะเดียวกันก่อนการประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเศรษฐา ซึ่งถึงกรณีที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด โดยระบุว่าา ต้องไปตรวจสอบก่อนหากพบว่ามีการทุจริตจริง จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน
ส่วนจะกำชับให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบมากขึ้นหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ เพิ่งทราบเรื่องและจะต้องสอบถาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะ รมว.มหาดไทย อีกครั้ง ยืนยันว่าหากพบการกระทำความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน