ข่าว

'นิกร' เผยเตรียมเสนอ 'ทำประชามติ' 3 ครั้ง ต่อคกก.แก้รธน.ชุดใหญ่

'นิกร' เผยเตรียมเสนอ 'ทำประชามติ' 3 ครั้ง ต่อคกก.แก้รธน.ชุดใหญ่

22 ธ.ค. 2566

'นิกร จำนง' เผยเตรียมเสนอ 'ทำประชามติ' 3 ครั้ง 2 แบบคำถาม ต่อคกก.แก้รธน.ชุดใหญ่ 25 ธ.ค.นี้ ชี้ สสร.มาจากรัฐสภาไม่ใช่รัฐบาล คาดใช้งบ 3,200 ล้านบาทต่อครั้ง แต่ปรับลดได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 กรอบภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการ ว่า ภายหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคทั่วประเทศรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)และสมาชิกวุฒิสภา(สว.)แล้วนั้น คณะอนุกรรมการก็ได้มีการสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญชุดใหญ่ในวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566  เวลา 08:30 น.

 

นายนิกร จำนง

 

โดยประเด็นที่จะนำเสนอ ประเด็นแรกคือจำนวนครั้งในการทำประชามติ ซึ่งคณะ อนุกรรมการ มีความเห็นว่าต้องทำ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกคือก่อนเริ่มกระบวนการใดๆ ครั้งที่ 2 คือ สภาพบังคับตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันเพื่อแก้ไขมาตรา 256 และครั้งที่ 3 คือก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ

 

 

ประเด็นที่ 2 คือ คำถามประชามติที่สั้นและเข้าใจง่าย โดยนำเสนอ 2 วิธี วิธีที่ 1 คือเป็นคำถามเดียว โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1 ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2 แบบที่ 2 คือท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

วิธีที่ 2 แบบ 2 คำถาม โดยแบ่งเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 คำถามแรก คือท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2

 

 

แบบที่1 คำถามที่ 2 คือท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาราชรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วน

 

 

แบบที่ 2 คำถามที่ 1 คือท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ

 

แบบที่2 คำถามที่ 2 คือท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 

 

เปิดที่มา สสร.ทั้ง 100 คน 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นจำนวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร. ) ที่มีความเห็นว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิก 100 คน

 

 

  • มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน
  • มาจากรัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ จำนวน 13 คน
  • มาจากองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการหรือทุพพลภาพ และด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศด้านละ 2 คน รวม 10 คน

 

 

โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องจัดทำผ่านรัฐสภา ดังนั้น รัฐสภาต้องมีมติที่จะให้ตั้งสสร.ไม่ใช่รัฐบาล

 


ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนยังมีความเห็นของประชาชนอื่นๆอีกค่อนข้างเยอะ ทางอนุคณะกรรมการจึงได้เก็บรวบรวมความเห็นนี้ไว้เป็นภาคผนวกแล้วส่งข้อมูลผ่านไปให้กลุ่มที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นสสร.หรือกลุ่มอื่น

 

 

อย่างไรก็ตาม การจัดทำประชามติ คณะกรรมการชุดใหญ่จะเป็นผู้สรุปและในที่สุดคณะรัฐมนตรีจะเป็นคนเคาะว่าจะใช้คำถามในรูปแบบใด สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการจัดทำบัตรประชามติ จากการสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้งบประมาณครั้งละ 3,200 ล้านบาท

 

 

"แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้ใช้งบประมาณที่น้อยลงได้หาก สามารถทำให้ประชาชนออกมาทำประชามติในวันเลือกตั้งอบจ.หรือเลือกตั้งสส. การใช้วิธีนี้ก็จะประหยัดทั้งงบประมาณของรัฐบาลและสะดวกประชาชนด้วย ขณะที่ร่างการทำประชามติ คณะอนุกรรมการจะมีการเสนอร่างนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ด้วย"นายนิกร กล่าวสรุป