‘วิษณุ’ ปัดตอบ พ.ร.บ.เงินกู้ไม่ผ่าน ‘นายกฯ’ ต้องลาออก หรือ‘ยุบสภา’
'วิษณุ' ไม่ขอพยากรณ์การเมืองปี2567 ชี้ พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ผ่านวาระแรก ‘นายกฯ’ ต้องลาออก หรือ ยุบสภา แม้ไร้กฎหมายบังคับ แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ยกสมัย ‘ป๋าเปรม’ เสนอกฎหมายไม่ผ่าน ก็ประกาศยุบสภา อังกฤษ-ญี่ปุ่น ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองปี2567 จะมีจุดใดมาเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ ว่า ไม่ทราบ ตนตอบไม่ถูก ได้แค่ติดตามจากทางหนังสือพิมพ์เท่านั้น และไม่ขอประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปีหน้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง
ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. จะหมดวาระในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มี สว.ใหม่เข้ามา โดยมีบทบาทอีกแบบหนึ่ง จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ เพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจยังไม่แล้วเสร็จ เพียงแต่เดินหน้าไปถึงจุดหนึ่ง ส่วนการปรับครม. ตนก็ยังไม่ทราบ เรื่องนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามย้ำว่าหาก สว. หมดวาระวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 จะไม่มีอำนาจในการโหวตเลิกนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงทำหน้าที่ สว.ต่อไป จนกว่าจะมีการประกาศ สว. ชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน จนกว่าจะประกาศใบเหลืองใบแดงแล้วเสร็จ
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่หากร่างพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลว็อลเล็ต ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ ว่า หากไม่ผ่านในวาระแรกก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คือยุบสภาหรือลาออก เพราะถือว่าไม่ไว้ใจรัฐบาล ตามธรรมเนียมเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ถือว่ากฎหมายบังคับ
"ทั้งนี้ หากไม่ผ่านในวาระ 2 , 3 หรือไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภา ไม่เป็นไร เพราะหากสภารับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว กฎหมายนั้นก็จะเป็นของสภา เพราะฉะนั้นถ้าไม่ผ่านก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล"
เมื่อถามย้ำว่า หากไม่ผ่านในวาระรับหลักการ จะไม่ลาออกได้หรือไม่ โดยใช้เหตุผลไม่มีกฎหมายบังคับ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า กรณีดังกล่าวเป็นธรรมเนียมประเพณี ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียน พร้อมยกตัวอย่างในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อกฎหมายไม่ผ่าน ก็ลาออก ขณะที่ ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเสนอกฎหมายเข้าไปแล้วไม่ผ่าน ก็ประกาศยุบสภา ซึ่งในประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ