ข่าว

'ศาล ปค. สูงสุด' ตีตกคำร้อง ป.ป.ช ขอให้เปิดเอกสารสอบ 'นาฬิกาเพื่อน' บิ๊กป้อม

'ศาล ปค. สูงสุด' ตีตกคำร้อง ป.ป.ช ขอให้เปิดเอกสารสอบ 'นาฬิกาเพื่อน' บิ๊กป้อม

12 ม.ค. 2567

"ศาลปกครองสูงสุด" มีคำสั่งยืน ไม่รับคำร้อง ป.ป.ช. ขอพิจารณาใหม่คดี "คดีนาฬิกาเพื่อน" "บิ๊กป้อม" ชี้ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณา

12 ม.ค. 2567 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการ​ป้องกัน​และ​ปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ​ (ป.ป.ช.)​ ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ ในคดีที่มีผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

 

โดยคดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 769/2564 หมายเลขแดงที่ อ. 326/2566 พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ประกอบด้วย ป.ป.ช.,​ เลขาธิการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 2 รายการ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 334/2562 แก่ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ สื่อมวลชน (ผู้ฟ้องคดี) ประกอบด้วย

 

1. รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในวันที่ 27 ธ.ค. 2661 และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

2. คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร​ ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง ที่ยื่นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
 

ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่า

1. คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เสียหายตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ศาลมิได้พิจารณาวินิจฉัยสถานะความเป็นผู้เสียหาย และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม อ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คดี คือ คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 กับคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564 แต่ศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกคำพิพากษาทั้งสองเรื่องดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย

 

2. คำพิพากษาคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยหลักกฎหมาย กล่าวคือ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 วรรคสาม ห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผย เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น

 

ทั้งนี้ ให้ถือเป็นความลับของทางราชการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมายกเว้นมาตรา 36 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

 

3. การไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามคำวินิจฉัยของศาล
 

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2540 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

 

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่ 1939/2566 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยวินิจฉัยว่า ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวในชั้นตรวจคำฟ้อง ก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว

 

แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และแม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุด ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

 

แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลจะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

 

เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้โต้แย้ง การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาล มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง ซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษา ที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. ข้างต้น

 

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และตามมาตรา 15 (2) และ (4) แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540


อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ได้อ้างพยานหลักฐานคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 681/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ อร. 74/2564​ แต่ศาลปกครองสูงสุดมิได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น

 

เห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 326/2566 ได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่า มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง

 

ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้