ข่าว

“งบประมาณปี2568” ผ่าน ครม.ฉลุย วงเงิน 3.6 ล้านล้าน ขาดดุล 7.1 แสนล้าน

“งบประมาณปี2568” ผ่าน ครม.ฉลุย วงเงิน 3.6 ล้านล้าน ขาดดุล 7.1 แสนล้าน

16 ม.ค. 2567

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบ วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท ขาดดุล 713,000 ล้านบาท พร้อมปรับปฏิทินงบประมาณ 5-6 มิ.ย. 67 เข้าสู่สภาพิจารณาวาระแรก 17 ก.ย. 67 ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้กฎหมายต่อไป

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (16 มกราคม 2567) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท และการปรับปรุงปฏิทินงบฯปี2568

ตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 กำหนดให้ในการจัดทำงบฯ ประจำปี ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) กำหนดนโยบายงบฯ ประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบฯ และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดงบดุลฯ และเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ ปี2568 กำหนดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ ปี 68 ในวันที่ 16 ม.ค. 2567 

 

 

โดยปีงบประมาณ2568 คาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,454,400 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร และอื่นๆ คงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,887,000 ล้านบาท วงเงินงบปี2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 สำหรับ งบฯ ลงทุน และงบฯ ชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

 

1.)โครงสร้างงบประมาณ ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้ 

 

1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,713,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 180,873.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.38 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 72.78

 

2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท) 

 

3.รายจ่ายลงทุน จำนวน 742,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 24,577.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.62 ของวงเงินงบประมาณรวม เท่ากับสัดส่วนต่องบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

 

4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 144,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 25,680 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.00 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วยร้อยละ 3.40

 

2.) รายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59

 

3.) งบประมาณขาดดุล จำนวน 713,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.56 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งนับว่าลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนที่ร้อยละ 3.64

 

 

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี68 เนื่องจาก 

1.ข้อสั่งการของ นรม. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการนำนโยบายของรัฐบาล มากำหนดเป็นจุดเน้นที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ2568 และใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับต่อไป

 

 

โดยมีการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณที่สะท้อนถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินแผนงาน/โครงการที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และกรณีจะเพิ่มหรือลดงบประมาณในรายการใด ต้องสามารถอธิบายเหตุผล และความจำเป็นได้อย่างชัดเจน 

 

 

2.ให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดสามารถจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของการกระจายอำนาจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ซึ่งด้วยหลักการและเหตุผลทั้ง 2 ข้อข้างต้นนี้ จึงได้มีการเสนอปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี2568

 

 

ทั้งนี้มีกรอบเวลาที่สำคัญ อาทิ

  • ธ.ค. 2566-2 ก.พ. 2567 หน่วยรับงบประมาณ จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่แสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยรับงบประมาณ

 

  • 3 ก.พ.-19 มี.ค. 2567 สงป. พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และนำเสนอ ครม. และ 26 มี.ค. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียด พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียด

 

  • สงป. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณ จากนั้นดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย
  • ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่าง และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่าง พ.ร.บ. และให้ สงป. จัดพิมพ์ร่าง และเอกสารประกอบงบประมาณ

 

  • 28 พ.ค. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเอกสารประกอบงบประมาณ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร

 

  • 5-6 มิ.ย. 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่ 1

 

  • ท้ายที่สุด 17 ก.ย. 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้กฎหมายต่อไป