ชี้ชะตา ‘พิธา-ก้าวไกล’ สุ่มเสี่ยง ‘ยุบพรรค’ คดีล้มล้างการปกครอง
ระทึกขวัญกว่าคดีหุ้นไอทีวี พิธา-พรรคก้าวไกล ลุ้นศาลวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง วิเคราะห์ 3 แนวทาง ส่อผลเป็นลบ กระทบยุบพรรค
ชัยชนะยกแรก หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ปฏิบัติหน้าที่ สส.ต่อไปได้ ในคดีคำร้องถือหุ้นสื่อไอทีวี เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567
พ้นบ่วงคดีถือหุ้นไอทีวี ก็เหมือนพิธา และพรรคก้าวไกลติดปีก แต่ก็ยังส่งเสียงเฮไม่สุด เพราะบ่วงคดีล้มล้างการปกครอง ยังรออยู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ม.ค. 2567
‘คดีล้มล้างการปกครอง’ ที่เรียกกันง่ายๆ นั้น มีที่มาจากคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ใน 2 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ประเด็นที่สอง ใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งสองประเด็นนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่?
เมื่อในคำร้องของทนายธีรยุทธ มีคำว่า ‘ล้มล้างการปกครอง’ จึงตามมาด้วยการวิเคราะห์เรื่องจะยุบ-ไม่ยุบพรรคก้าวไกล
ขอแค่ให้หยุด
จริงๆ แล้ว ธีรยุทธ สุวรรณเกสร ผู้ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด
ในคำร้องได้สรุปไว้ว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธา และพรรคก้าวไกล) หยุดที่จะนำนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 มาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และขอให้หยุดในการสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่อง 112 ไม่ว่าจะต่อสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผู้ร้องต้องการให้หยุดทำ 2 เรื่องดังกล่าว เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลดำเนินการอยู่ จะเป็นการเปิดช่องเปิดโอกาสให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ในการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะเดียวกันก็มีกรณีเทียบเคียงในเรื่องนี้ เมื่อ ณฐพร โตประยูร เคยไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563
ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือน และส่งผลอันเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ที่แม้ตอนนี้จะยังไม่เกิด แต่การเซาะกร่อน บ่อนทำลายดังกล่าว จะทำให้เกิดขึ้นในวันหน้าอย่างแน่นอน
ดังนั้น หากในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ มีการระบุว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง
จุดนี้อาจเป็นสารตั้งต้นให้มีการไปยื่น กกต. ให้เอาผิดผู้ถูกร้อง(พิธาและพรรคก้าวไกล) ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลในฉากต่อไป
3 แนวทางวินิจฉัย
เมื่อพิจารณาคำร้องของ ธีรยุทธ สุวรรณเกสร อย่างถี่ถ้วน ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ร้องขอให้หยุดการกระทำ ไม่ได้ขอให้ยุบพรรค ฉะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยเกินคำร้องของผู้ร้อง
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านกฎหมาย-รัฐศาสตร์หลายสถาบัน ได้สรุปความเป็นไปได้ของคดีล้มล้างการปกครองไว้ 3 แนวทาง
แนวทางแรก ศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีคำสั่งยกคำร้อง
แนวทางที่สอง ศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง จึงสั่งให้หยุดการกระทำ
แนวทางที่สาม ศาลวินิจฉัยว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ยุบพรรค
ถ้ายึดตามคำร้องของธีรยุทธ แนวทางทางที่สาม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไปไกลเกินคำร้อง ซึ่งคำร้องไม่ได้ขอให้ยุบพรรคก้าวไกล
แนวทางที่สอง มีความเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งถ้าศาลสั่งให้หยุดการกระทำต้องดูเนื้อหาต่อไป หยุดไม่ให้ใช้หาเสียงในวันข้างหน้า หรือหมายรวมถึงการกระทำในเรื่องนี้ทุกกรณี
ในมิติทางการเมือง มีนักวิเคราะห์สถานการณ์ตั้งสมมุติฐานว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมอยากจะเก็บพรรคก้าวไกลเอาไว้ ให้ต่อกรกับพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีธงยุบพรรค
ด้านหนึ่งก็มีบทเรียนอยู่แล้วว่า การเอาพรรคอนาคตใหม่ออกไป ก็ฆ่าไม่ตาย มีตัวตายตัวแทน และมีพรรคก้าวไกลที่โตวันโตคืน
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะไปต่อแบบใด ก้าวไกลก็ยังระทึกขวัญต่อไป