ข่าว

01 ก.พ. 2567

2 พรรคการเมืองใหญ่ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" จับมือยื่นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หวังแก้ปมเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพิ่มความยืดหยุ่น กกต. จัดทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้ มั่นใจแม้ต่างฝ่าย แต่ร่วมผลักดันเพื่อประโยชน์

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่อาคารรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วันมูหะมัดนอร์ มะทา รับยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ 2 ฉบับ คือฉบับจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ และอีกฉบับจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ

 

2 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จับมือยื่นแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

 

 

โดยประธานสภาฯ ระบุว่า จะนำร่างทั้ง 2 ฉบับนี้ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมต่อไป ซึ่งน่าจะเสร็จโดยเร็ว เพราะเรามีเวลาในสมัยประชุมอีกไม่มาก ประมาณ 2 เดือน 10 กว่าวันเท่านั้น

 

 

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล  สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย 129 คน ร่วมกันลงชื่อ เพื่อขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประจำมติปี 2564 เนื่องจากกฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดให้การออกเสียงประชามติ เป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น 

 

 

โดยชั้นที่ 1 คือผู้มาใช้สิทธิ์ต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และชั้นที่ 2 คือผู้ที่มาออกเสียง ต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ์ จึงสุ่มเสี่ยงกรณีหากประชาชนไม่ออกมาใช้สิทธิ์ หรือไม่ประสงค์ใช้สิทธิ์ จะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

 

 

“สมาชิกของพรรคเพื่อไทยจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรแก้กฎหมาย โดยให้ใช้เสียงเข้ามาตามหลักทั่วไป เพียงกำหนดเงื่อนไขของพรรคเพื่อไทยให้เป็นเสียงข้างมากควรจะเกินเสียงของผู้ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ์ออกเสียง เพื่อความถูกต้องชอบธรรม”นายชูศักดิ์ กล่าว

 

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีอีก 3 ประเด็นที่ควรแก้ไปพร้อมกัน คือเห็นว่าการออกเสียงลงคะแนน ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ราว 3,000 ล้านบาท จึงคิดว่าหากการออกเสียงประจำมติใกล้เคียงกับวันเลือกตั้งทั่วไปหรือวันเลือกตั้งท้องถิ่น จึงน่าจะจัดไปพร้อมกันในวันเดียวได้ เพื่อประหยัดงบประมาณ และประชาชนก็ไม่ต้องออกมาหลายครั้ง ส่วนอีกประเด็นคือ เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาวิธีการออกเสียงลงมติ นอกจากการไปกาบัตร เช่น การส่งไปรษณีย์ หรือออนไลน์

 

 

ทั้งนี้ ยังเห็นว่า การออกเสียงประชามติควรมีการรณรงค์ จึงควรเขียนไว้ให้ชัดในกฎหมายว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำเป็นต้องทำ รวมถึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาแสดงความคิดเห็นได้โดยเสมอภาค จะทำให้การออกเสียงประชามติได้รับการรับรู้รับทราบของประชาชน

 

 

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อยากให้ประชาชนมองว่าการแก้ไขกฎหมายประชามติในครั้งนี้คือการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประจำมติหัวข้อใดก็ตาม ซึ่งฉบับของภาคก้าวไกลประกอบไปด้วยการแก้ไขใน 3 ประเด็น

 

 

ประเด็นที่ 1 คือ ทำให้กติกามีความเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากข้อกังวลของ หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น เราเข้าใจว่าผู้ออกกติกานี้ตั้งใจให้ประชามติมีผลต่อประชาชนจำนวนมาก แต่มีความเสี่ยงเปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม ใช้วิธีการนอนอยู่บ้าน ไม่ออกมาใช้สิทธิ์เพื่อคว่ำประชามติ ถึงก็เปลี่ยนกติกาให้เป็นเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 1 ชั้น คือ ให้เสียงประชาชนผู้เห็นชอบมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์

 

 

ประเด็นที่ 2 คือ ปลดล็อคให้ กกต. สามารถจัดประชามติในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งอื่นๆได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ และยังเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย และทำให้ กกต. ยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนวันทำประชามติออกไป

 

 

ประเด็นที่ 3 คือทำให้ประชามติมีความทันสมัยมากขึ้น ให้ประชาชนออกเสียงประชามติผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพราะปัจจุบันการเข้าชื่อต้องพิมพ์เอกสารออกมาแล้วลงชื่อเท่านั้น ไม่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ พรรคเก้าไกลจึงต้องการประกันสิทธิ์ของประชาชนให้สามารถเข้าชื่อทางออนไลน์ได้

 

 

ขณะที่อีก 2 ประเด็นเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย เราเห็นด้วยในหลักการอยู่แล้ว จะดูรายละเอียดในตัวร่างเพิ่มเติมว่าจะปรับปรุงให้รัดกุมยิ่งกว่าฉบับปัจจุบันได้อย่างไร ทั้งนี้ ทั้ง 2 พรรคได้ประสานงานกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายก็เห็นความจำเป็นในการนำเสนอการแก้ไขประชามติในทิศทางและค่อนข้างสอดคล้องกัน หวังว่าการแถลงข่าวครั้งนี้จะเป็นทั้งตัวอย่างและนิมิตหมายที่ดี

 

 

“แม้ว่าทั้งสองพรรคอาจจะอยู่กันคนละฝั่งในระบบรัฐสภา แต่ก็พร้อมร่วมมือกันในประเด็นที่เห็นด้วยส่วนประเด็นที่เห็นต่างก็พร้อมแข่งขันกันเต็มที่ เพราะเป็นแนวทางที่ท้ายสุดประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว

 

 

ส่วนความเห็นของ สว. ต่อร่างกฎหมายที่เสนอไปนั้น พริษฐ์ ระบุว่า หากร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ก็จะต้องเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี สว. ร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งคิดว่าปัญหาเสียงข้างมาก 2 ชั้น ไม่ใช่ประเด็นใหม่สำหรับสมาชิกรัฐสภา ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับ กกต. นั้น ก็ได้เคยเชิญหน่วยงานเข้าหารือแล้ว