ข่าว

ป.ป.ช.แนะ 8 จุดเสี่ยง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ชี้ถ้าใช้งบปกติอาจไม่ขัด รธน.

ป.ป.ช.แนะ 8 จุดเสี่ยง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ชี้ถ้าใช้งบปกติอาจไม่ขัด รธน.

07 ก.พ. 2567

ป.ป.ช. เตรียมส่ง 8 ความเสี่ยง แจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ภายใน 2 วัน มองต่าง เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต ชี้ไม่ควรกู้เงิน-แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป็นเงินสด มองเป็นเรื่องดีออกเป็นพ.ร.บ.​จะได้ฟังความเห็นของสภา แนะ “กกต.” สอบนโยบายนี้ เข้าขายสัญญาว่าจะให้หรือไม่

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.​ มติเห็นชอบส่งความเห็นผลการศึกษานโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แล้ว ประธาน ป.ป.ช. ได้ลงนาม และจะส่งให้รัฐบาลภายใน 1-2 วันนี้

ป.ป.ช. แถลง 8 จุดเสี่ยงดิจิทัลวอลเล็ต

โดยสาระสำคัญของรายงานพบว่ามี 4 ประเด็นเสี่ยง คือ  1.เสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย  2.มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต 

 

 

3.เสี่ยงด้านกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ..รบ.เงินตรา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้อง 4. ในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นเทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

 

 

อีกทั้งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 กรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอแนะป้องกันการทุจริต จากนโยบายดังกล่าวต่อ ครม.เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันไม่เกิดความเสียหาย 8 ประเด็น คือ เสนอ 

 

 

1.ศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม 2.ให้ กกต. ศึกษา เรื่องการหาเสียงของเพื่อไทยและคำแถลงนโยบายเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว 3. ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบทางเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาลความโปร่งใส พิจารณาผลดีผลเสียการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่จะสร้างภาระหนี้ในระยะยาว

 

 

4.ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามกฎหมาย 5. ควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการ โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต และมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อนระหว่างและหลังดำเนินโครงการ เพื่อให้เป็นไปผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

6.การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ใช้พัฒนาระบบ ซึ่งของการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียวภายใน 6 เดือน

 

 

7. โดยอ้างอิงข้อมูลทางเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ถึงขั้นวิกฤตเพียงแค่ชะลอตัว และ 8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรเลือกช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยใช้แหล่งงบประมาณปกติไม่ใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จ่ายในรูปแบบเงินบาทปกติที่เหมาะสม ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลกับถ้วน โดยจะลดความเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายต่างๆและอาการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะในประเทศระยะยาว

 

 

ส่วนที่เสนอแนะ กกต.ให้ตรวจสอบนโยบายว่าถือเป็นการสัญญาว่าจะให้หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ก็อยากให้กกตไปตรวจสอบว่าการที่ให้นโยบายไว้อย่างนึง แต่พอได้เข้ามาบริหารประเทศได้ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ มันแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของที่มาของแหล่งเงิน แต่น่าจะต้องดูภาพรวมทั้งหมด สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกพรรคการเมืองคำนึงถึงการหาเสียง ควรจะพิจารณาให้รอบคอบก่อน ว่าพอมาบริหารประเทศแล้ว จะสามารถทำได้หรือไม่ มิเช่นนั้นจะเหมือนโฆษณาไว้ แต่เวลาซื้อจริงไม่ตรงตามโฆษณา ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีสภาพบังคับให้ กกต.ต้องดำเนินการ

 

 

ส่วนที่ กกต.เคย ตีตกคำร้องเรื่องนโยบาย Digital wallet มาแล้ว 1 ครั้งตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าไม่ได้เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ นายนิวัติไชย กล่าวว่า อาจจะเป็นดุลพินิจของ กกต. ในตอนนั้นเราไม่ก้าวล่วง แต่ข้อเสนอขอ ป.ป.ช.เราก็พิจารณาจากนโยบายที่รัฐบาลแถลงตอนนี้ โดยที่ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งเราก็เสนอแนะในรูปธรรม ยังไม่ได้บอกว่าจะเกิดการทุจริต

 

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ 8 ข้อ ของ ป.ป.ช.จะเสี่ยงทุจริตหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เราไม่ทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แต่ ป.ป.ช.มีหน้าที่เสนอแนะ ตามหน้าที่ในการป้องนำปราบ ไม่ใช่รอให้เกิดการทุจริตแล้วค่อยดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าความเห็นของ ป.ป.ช. ไม่ใช่เรื่องมโน แต่มันเป็นความเห็นเชิงวิชาการ ไม่ใช่คิดเองเออเอง แต่มันเป็นความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วน

 

 

ส่วนมีความเสี่ยงหรือไม่ รัฐบาลเดินหน้าโครงการตามแนวทางเดิม นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตหากดำเนินการไปแล้วสามารถอธิบายได้ สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น และไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล

 

 

เมื่อถามว่าตอนนี้รัฐบาลมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤต จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ นายนิวัติไชย กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราต้องมองคือว่าประเทศไทยตอนนี้วิกฤตหรือไม่ซึ่งอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่นักวิชาการ ของ ป.ป.ช.มองว่ายังไม่วิกฤต เราจึงได้เสนอมุมมองนี้ให้กับรัฐบาล แต่หากรัฐบาลมีมุมมองและข้อมูล ว่า วิกฤตก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินโครงการ

 

 

เมื่อถามว่าหากมีการ ออก พ.ร.บ.กู้เงิน มาดำเนินโครงการใครจะเป็นคนชี้ว่าคุ้มค่าตามกฎหมายหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า คงเป็นรัฐบาล เมื่อดำเนินโครงการแล้วก็จะต้องรับผิดชอบ แต่ในการขับเคลื่อนรัฐบาลก็ต้องมีข้อมูลพอสมควรว่าใช้ Big Data จากที่ไหน

 

 

นายนิวัติไชย ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ ป.ป.ช.ติดตามการอย่างใกล้ชิด เป็นแนวทางในการป้องกัน เพราะตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แล้ว ป.ป.ช.ไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่า โครงการนี้ดีหรือไม่ดี รัฐบาลควรจะยึดติดโครงการนี้หรือเดินหน้าต่อ และยืนยัน ว่า ป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ไประงับยับยั้ง​โครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เว้นแต่กรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น เกิดการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช.สามารถขอศาลให้มีสั่งยกเลิกโครงการ

 

 

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลยืนยันจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภาฯ ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้เลยหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เราก็ตรวจสอบเป็นระยะ แต่การที่กฎหมายจะผ่านสภาฯก็ต้องความผ่านความเห็นจากสมาชิก ซึ่งมาจากประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะต้องผ่าน ทั้งสส.และ สว. เขาอาจจะหยิบยกข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาด้วย

 

 

เมื่อถามว่า รัฐบาลเดินหน้าโดยไม่รับฟังข้อเสนอแนะ มีโอกาสจะซ้ำรอยเหมือนโครงการรับนำเข้าหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต ไม่สามารถชิงที่จะวินิจฉัยก่อนได้ เป็นการลักไก่ไม่ถูกต้อง