ข่าว

‘คำนูณ’ เตือน รบ. เจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทยต้องไม่เสีย ‘เกาะกูด’

‘คำนูณ’ เตือน รบ. เจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทยต้องไม่เสีย ‘เกาะกูด’

28 ก.พ. 2567

‘คำนูญ’ เตือน รบ. เจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทยต้องไม่เสีย ‘เกาะกูด’ แบ่งเขตทางทะเลให้ชัด ก่อนแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม รัฐบาลต้องระวังท่าที หวั่นกระทบคนรุ่นหลัง

27 ก.พ. 2567 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกลไก MOU 44 เพื่อกำหนดพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา ที่ทำขึ้นสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชิณวัตร ว่า ค่อนข้างชัดเจนเรื่องการนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ และการเร่งเจรจาในพื้นที่ทับซ้อน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อปี 2544 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เซ็น MOU ฉบับนี้กับรัฐบาลกัมพูชา ตอนนี้ก็ต้องยอมรับความจริง ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีความใกล้ชิดกับกัมพูชามากกว่ารัฐบาลใดๆ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และอาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ

 

ประเด็นสำคัญการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาในเรื่องผลประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในทะเล ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2513 หรืออาจจะนับจาก MOU ปี 2544 รวม 20 ปีกว่า แต่ทำไม่สำเร็จเสียที เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ 2 ประเทศ ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลหรือเส้นเขตไหล่ทวีปของอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยากที่จะยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชา ที่ประกาศออกมาเมื่อปี 2515 ได้ ซึ่งนี่คือจุดแห่งปัญหาทั้งมวล เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านกลางเกาะกูดไปกึ่งกลางอ่าวไทย แล้ววกลงใต้ ซึ่งเกาะกูดเป็นของไทย 2 ล้านเปอร์เซ็นต์ จากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 ซึ่งเมื่อกัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปดังกล่าว จึงทำให้เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย

ในปี 2515 ไทยเคยมีการเจรจากับประเทศกัมพูชาแล้ว กัมพูชาแจ้งว่าการประกาศเส้นไหล่ทวีปนี้ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ระดับล่างเสนอขึ้นมา โดยคำแนะนำของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ความจริงแล้วทางกัมพูชาเองไม่มีความประสงค์คร่อมทางเกาะกูดของไทยแต่ประการใด แต่ถ้าจะให้กัมพูชาเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องเข้าใจการเมืองของกัมพูชาที่มีความเปราะบาง ซึ่งสมัยนั้นไทยมีการตอบโต้โดยการประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปของเราเองออกมาในปี 2516 คิดเส้นขึ้นมาตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศโดยลากจากแผ่นดินจุดเดียวกันคือหลักเขตที่ 73 ลากลงทะเลกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศแบ่งเขตไหล่ทวีปแตกต่างกัน ก็เลยกลายเป็นจุดที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนหรือเนื้อที่ทั้งหมด 26,000 ตารางกิโลเมตรกลางอ่าวไทย

 

"เรื่องนี้เจรจาเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกัมพูชาก็มีสงครามกลางเมือง สถานการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง จนมาถึงยุคนายทักษิณ ชินวัตร จึงมีการเซ็น MOU เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่ง MOU นี้ มีลักษณะสำคัญที่ว่าได้มีการแบ่งพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร กลางอ่าวไทยเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือเป็นตัวแบ่ง ส่วนข้างบนกำหนดให้เจรจาแบ่งเขตแดน ซึ่งในส่วนนี้จะมีเกาะกูดของไทยอยู่ด้วย ส่วนข้างล่างใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ แบ่งผลประโยชน์ไม่พูดถึงเรื่องเขตแดน ซึ่งใน MOU ได้ระบุว่าต้องทำทั้ง 2 ส่วนนี้พร้อมกันไป และจะแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ ค่อนข้างมีความคืบหน้า มีตัวแบบต่างๆ แต่เส้นเขตแดนข้างบนไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร" นายคำนูญกล่าว

ดังนั้น จึงต้องมาดูทิศทางของรัฐบาลชุดนี้ ถ้าจะเจรจาเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลขึ้นมา จะใช้แนวทางใด ตนเคยตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรี แล้วได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาตอบ ซึ่งให้ข้อมูลว่า คงจะยึดตาม MOU ปี 2544 แต่ไม่ได้บอกว่าจะเดินตาม MOU ปี 2544 ทั้งหมดหรือไม่ เพราะพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ยากพอสมควร นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเคยไปปาฐกถาในงานพลังงานหนึ่ง โดยระบุท่อนหนึ่งที่สำคัญว่า "จะเดินหน้าเร่งเจรจา กับกัมพูชาเพื่อเอา ทรัพยากรปิโตรเลียมที่ไปใช้ให้เร็วที่สุด โดยจะแยกปัญหาและเขตทับซ้อนทางทะเล"

 

นายคำนูญ จึงเห็นว่า เป็นแนวคิดที่อยากจะเจรจาเฉพาะเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากปิโตรเลียมก่อนใช่หรือไม่ เรื่องเขตแดนสำเร็จยากก็ยังไม่แตะใช่หรือไม่ ซึ่งนี่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดูว่านายกรัฐมนตรีจะชี้แจงอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าแนวทางอย่างที่นายกรัฐมนตรีได้พูดออกมา ถ้าจริงจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าเขตอ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร แล้วเราไปกำหนดเขตที่จะพัฒนาร่วมเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กัน ก็หมายถึงว่าเราไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาโดยปริยาย ซึ่งจะมีข้อเสีย 2 อย่างคือ 1.ทำให้ผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของไทยมากกว่านี้ ต้องสูญเสียไปบางส่วน 2. การยอมรับโดยปริยายจะเป็นผลเสียอย่างไรหรือไม่ หากมีการเจรจาแบ่งเขตแดนในอนาคต นี่เป็นประเด็นสำคัญมาก

 

"ทางที่ถูกต้องคือต้องเอาเรื่องเขตแดนทางทะเลก่อน ไม่ได้หมายความว่าเห็นตรงกันยึดเส้นเดียวกัน แต่เส้นที่มาลากผ่านเกาะกูดของไทยเรายอมไม่ได้ เขาต้องถอยออกไป แล้วมีจุดเหลือบอยู่เท่าไหร่ค่อยมาคุยกัน ว่าจะเป็นเขตพัฒนาร่วมที่จะแบ่งปันผลประโยชน์กัน เพราะตนเชื่อว่าคนไทยยอมไม่ได้ที่เกาะกูด เป็นของเราตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วอยู่ดีๆ กัมพูชานึกจะลากผ่านก็ลากผ่าน" นายคำนูณ กล่าว

 

นายคำนูญ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อเจรจาแล้วต้องมีหลักประกันว่าประเทศไทยจะไม่เสียประโยชน์ ไม่เสี่ยงเสียเขตแดนทางทะเลในอนาคต ซึ่งการตัดสินใจของเราในวันนี้จะส่งผลให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน เขาลำบาก

 

"ถ้าเรามีความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชา มีความใกล้ชิดกันก็ลองทำความเข้าใจกับเขา เบื้องต้นให้กัมพูชาแสดงความจริงใจกับเรา โดยการยกเลิกเส้นเขตไหล่ทวีป ของเขาที่ลากผ่านเกาะกูด แล้วพยายามทำเส้นเขตหลายทวีปของเขาใหม่ หรือมาเจรจาร่วมกันให้ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ทั้ง 2 ประเทศ เป็นภาคีสมาชิกให้ได้มากที่สุด ถ้าทำได้แบบนั้นแล้วมีเขตที่ยังเหลืออยู่เท่าไหร่ เอามาเป็นเขตพัฒนาร่วม ก็เชื่อว่าประชาชนคนไทยจะเข้าใจ แต่ถ้าหากไม่พูดถึงเรื่องเขตแดนเลย เส้นที่เขาลากผ่านเกาะกูดก็ยังอยู่ เส้นของเราก็ยังอยู่แล้วเราบอกประชาชน ว่าไม่กระทบไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน เอาผลประโยชน์ในทะเลมาขึ้นมาใช้รัฐบาลต้องบอกประชาชนว่าถ้าทำเช่นนั้นจะเสี่ยงมหาศาล ซึ่งถ้าหากเราพูดคุยกันเรื่องดินแดนให้ชัดเจนกว่านี้ ถ้าจะไม่ต้องแบ่งมากเท่านี้หรือไม่" นายคำนูณกล่าว

 

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า จะนำเรื่องสมเด็จฮุนเซนมาพบนายทักษิณ และเรื่องที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมกรรมการบริหารพรรค จะเดินทางไปพบสมเด็จฮุนเซน เข้าในญัตติอภิปรายทั่วไป วันที่ 25 มีนาคมนี้ด้วย