‘ปดิพัทธ์’ เข้าทำเนียบ ทวงร่างกฎหมายการเงิน ค้าง 31 ฉบับ
‘ปดิพัทธ์’ เข้าทำเนียบ ทวงร่างกฎหมายการเงิน ค้าง 31 ฉบับ ไม่มีเจตนารุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร แต่อยากทราบความชัดเจน - ขั้นตอนการพิจารณา เป็นหน้าที่โดยตรงของรองประธานสภาฯ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง นั่งรถยนต์ประจำตำแหน่ง พร้อมรถตู้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 คัน เข้าทำเนียบรัฐบาล ทวงถามถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 31 ฉบับ โดยบอกว่า ตามข่าวออกไปว่ามาบุก ไม่ใช่เลย เป็นการมาขอประชุมร่วม เพื่อติดตามความก้าวหน้าของร่างกฎหมาย เพราะจากที่เคยสอบถามถึงสาเหตุที่นายกรัฐมนตรีไม่เซ็นรับรองร่างกฎหมาย เนื่องจากต้องรอรับความคิดเห็นจากหน่วยงาน แต่เมื่อไม่มีรายละเอียดบอกว่าแต่ละร่างรอหน่วยงานไหนอย่างไร และไม่ทราบถึงขั้นตอน จึงอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรกันดี จึงมาขอหารือกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนจะได้เจอใครหรือไม่นั้น ไม่เป็นไร แค่อยากมารู้ขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะได้หารือกัน พร้อมยกตัวอย่าง ประเด็นที่ไม่มาตอบกระทู้ถามสด สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ควรต้องทราบ เพราะมันต้องมีเอกสารชี้แจ้งเหตุผลที่ชัดเจน แต่เอกสารชี้แจ้งแต่ละครั้ง ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดว่าติดภารกิจอะไร
ส่วนกรณีที่ สส.เพื่อไทย มองว่าการที่รองประธานสภาฯ เดินทางมาในวันนี้ เป็นการรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มากดดันให้เซ็น ไม่ได้มองว่าตัวเองรุกล้ำ พร้อมมองว่าหากจะไม่เห็นชอบจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นจะไม่ชัดเจน และเจ้าของร่างก็ไม่รู้ว่าจะต้องปรับปรุงร่างของตัวเองหรือไม่ ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับปรุงอย่างไรก็ควรจะบอกมา แต่หากเราไปเรื่อยๆ และขณะนี้ 6 เดือนกว่าแล้ว ฉะนั้นการจะตีร่างกฎหมายการเงิน ถือว่ามีขอบเขตที่กว้างมาก พร้อมยกตัวอย่าง ร่างฯรับราชการทหารและการถ่ายโอนกำลังพล และร่างฯกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) และร่างฯ เปิดเผยข้อมูลมลพิษ ถูกตีความว่าเป็นร่างฯการเงิน ฉะนั้นการจะตีความร่างกฎหมายอย่างไร เราต้องการความชัดเจน
ส่วนจะได้พูดคุยกับฝ่ายบริหารหรือไม่ ถือว่าเป็นการพูดคุยครั้งแรกก็แล้วกัน และไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ ซึ่งก็ต้องเข้าใจฝั่งรัฐบาลด้วย แต่ถ้าหากไม่พูดคุยกันและโต้ตอบผ่านทางสื่อมวลชนอย่างเดียว มันก็ไม่มีโอกาสปรับปรุง ส่วนจะได้พูดคุยกับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสมคิด เชื้อคง หรือไม่ ตนไม่แน่ใจ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการติดต่อพูดคุยเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด แต่ดำเนินการตามขั้นตอนตามปกติ และตนได้ส่งหนังสือประสานงานมายังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ส่วนการที่นายปดิพัทธ์ เดินทางมาเองนั้นถือว่าการประสานงานระหว่างวิปรัฐบาลกับสภาฯไม่เชื่อมโยงกันหรือไม่ รองประธานสภาคนที่ 1 ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของวิปฯ แต่ตน เป็นรองประธานสภาที่กำกับดูแลเรื่องการตรากฎหมายโดยตรง ดูให้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และการที่ตนเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ ทางประธานสภาและรองประธานสภาคนที่ 1 ไม่ได้มีความเห็น รอหน้าที่ดูแลกฎหมายเป็นหน้าที่ของตนโดยตรง
“การที่จะมาทำงานร่วมกันเพื่อทำงานให้ดีขึ้นมันผิดมารยาทตรงไหน ตนเข้ามาปิดทำเนียบหรือ มาแบบไม่สุภาพหรือ แต่ตนเข้ามาเพื่อขอความร่วมมือและหาทางออกในการพิจารณากฎหมายให้ประเทศชาติ แต่ถ้าหากมองว่าเป็นการลุกล้ำก็มีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ แต่ยืนยันว่าตนมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์” รองประธานสภาฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรองประธานสภาฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสร็จ เดินเท้าต่อมายังบริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อรอพบกับตัวแทนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยระหว่างที่ยืนรออยู่หน้าตึกบัญชาการ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบรัฐบาล ได้พยายามติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ สลน. ว่าใครจะลงมาพูดคุย ทำให้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งยืนรออยู่พูดว่า “สำนักงานเลขาธิการนายกฯ มีกี่คน ไม่อยู่สักคนเลยเหรอครับ“
จากนั้น รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้โชว์ภาพเอกสารที่ส่งมายัง สลน. ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจะมีการมาสอบถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายต่อสลน. ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที คณะของผู้อำนวยการกองงานประสานงานทางการเมืองสำนัก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายจงเจริญ สุวรรณรัตน์ ได้มาพบกับรองประธานสภาฯ คนที่ 1 พร้อมกับเชิญขึ้นไปพูดคุยที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2
หลังจากหารือประมาณ 30 นาที นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อติดตามว่าขั้นตอนการเสนอกฎหมายอยู่ในขั้นตอนใด และเป็นการกระตุ้นให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง รับทราบถึงศักยภาพของหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการตอบกระทู้ของรัฐมนตรี หากไม่มาขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผล