มุมมอง 3 ขั้ว หลังศาลยกฟ้อง ‘ยิ่งลักษณ์’
หลังศาลยกฟ้องคดีล่าสุดของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการพากลับเข้าประเทศแบบ ‘ทักษิณโมเดล’ เข้าประเทศ - ลดโทษ - พักโทษ – กลับบ้าน ฝ่ามรสุมท้าทายข้อกฎหมาย และความรู้สึกไม่เท่าเทียม
หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 คน คดีจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้าน โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่า ไม่มีเจตนาเอื้อประโยชน์จัดซื้อจัดจ้าง
รวมแล้วมีคดีที่ผ่านการพิจารณาของศาลฎีกา 3 คดี ยกฟ้องเพิกถอนหมายจับ 2 คดี คือคดี Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 และคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ส่วนคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว ตัดสินจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ตอนนี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการพานางสาวยิ่งลักษณ์ กลับประเทศไทย อาจใช้โมเดลกับพี่ชาย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ คือ เข้าประเทศ - ลดโทษ - พักโทษ - กลับบ้าน
เบื้องต้น พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า ยังไม่มีการประสานเข้ามา แต่การขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ต้องผ่านกระทรวงยุติธรรม สามารถทำได้โดยตรง เพียงแต่ส่วนใหญ่เรื่องจะผ่านเข้ามาที่กระทรวงยุติธรรม กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เท่าที่ทราบมีการประสานทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เคยออกมาให้รายละเอียด ส่วนกระบวนการขั้นตอนหากนางสาวยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทย พันตำรวจเอกทวี บอกเพียงว่า ส่วนกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์มีกำหนดไว้ชัดเจน ย้ำว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว 5 ปี ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ สามารถเดินทางกลับประเทศได้ทุกเวลา แต่จะต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม และยอมรับโทษ 5 ปี และตั้งประเด็นถึงเกณฑ์การพักโทษนายทักษิณ แต่สำหรับนางสาวยิ่งลักษณ์ อายุยังไม่เข้าเกณฑ์ ยังแข็งแรง เดินทางไปมาหลายประเทศได้ จึงไม่เข้าเงื่อนไข พร้อมสนับสนุนให้นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับประเทศเพื่อรับโทษ หากจะขออภัยโทษหรือลดโทษเหมือนนักโทษทั่วไป ก็เชื่อว่าสังคมจะยอมรับได้ แต่หากใช้วิธีพิเศษอีก ก็จะเป็นวิกฤตซ้ำ
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นว่า หากเชื่อว่าคนทุกคนในประเทศเท่าเทียมกัน ก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค รวมถึงผู้เรียกร้องทางการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัว และเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจรัฐว่า การทำให้ประเทศสงบสุข ต้องมีความเป็นธรรม เสมอภาค บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม การทำรัฐประหารในปี 2549, 2557 นั้นไม่ถูกต้อง รวมถึงกระบวนการเอาผิดนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนความเป็นธรรมให้กับทั้งสองคน