‘พิธา’ เตือน ‘ทักษิณ’ วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ ไม่เหมือน ‘ต้มยำกุ้ง’
‘พิธา’ เตือน ‘ทักษิณ’ วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ ไม่เหมือนปี 2540 ‘ต้มยำกุ้ง’ ระวังจ่ายยาแก้เศรษฐกิจผิด วัดแค่ GDP อย่างเดียวไม่ได้ ต้องวัดความร่ำรวยของประชาชนเพิ่ม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า วิกฤตประเทศไทยตอนนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จะเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ทว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีจริง โตช้าจริง ซึม และการฟื้นฟูหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด ก็ยังช้าและแย่มากเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาโครงสร้างทั้งหมด ไม่ใช่ว่าวิกฤตแล้วเศรษฐกิจหายไป 20% หรือตลาดหุ้นหายไปเกินครึ่งเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือค่าเงินบาทปรับเป็น 50 บาทจาก 25 บาท
“ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนกันแล้ว พอสถานการณ์ไม่เหมือนกัน เราดันไปบอกว่าเหมือนกัน เราจ่ายยาผิดทันทีนะ คุณจะจ่ายยาผิด เพราะคุณวินิจฉัยอาการผิดตอนนี้เศรษฐกิจมันซึม แล้วมันซึมยาว ซึมยาวมาเป็นปี และซึมมาเป็น 10 ปี แต่ปัญหาโครงสร้างในการส่งออกยังเหมือนเดิม เรื่องเกี่ยวกับภาคการผลิตยังเหมือนเดิม“ นายพิธา กล่าว
นายพิธา บอกว่า ปีนี้งบประมาณล่าช้า แต่ยังรู้สึกว่าเมื่องบประมาณผ่านแล้ว ภาครัฐตั้งใจที่จะอัดโครงการที่เป็นประโยชน์ออกไปจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่สัมมนาหรือซื้อผ้าม่าน มีการอัดฉีดลงทุนในโครงสร้างเข้าไป ก็จะทำให้ GDP โตขึ้น สำคัญที่สุดที่อยากจะชวนรัฐบาลหรือคุณทักษิณด้วย คือเวลาวัดเศรษฐกิจ ถ้าคุณวัดผิดก็จะเป็นเข็มทิศที่ผิด ถ้าคุณไปวัดแค่ GDP ว่าโตเท่าไหร่ มันไม่ได้วัดความเหลื่อมล้ำ จึงอยากขอให้ลองหาตัววัดเศรษฐกิจใหม่ๆ ในการดูแล เช่น การเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจตอนนี้เป็นอย่างไร หรือการวัดความร่ำรวยของประชาชน (GDP per capita) ไม่ได้ดูแค่ระดับประเทศ แต่ดูระดับในจังหวัด ก็จะทำให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น เพราะเราเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบน้ำหยดอย่างที่เคยชิน แต่เป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบฐานรากขึ้นมา จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและเท่าเทียม
ส่วนวิธีการแก้ไขเฉพาะหน้าที่จะรวดเร็วที่สุด ที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศคืออะไร นายพิธา กล่าวว่า ตอนนี้ต้องลงรายละเอียดเรื่องที่เปราะบางที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน เป็นเรื่องสำคัญจะต้องเร่งผ่านงบประมาณให้เศรษฐกิจเดินต่อ ,เรื่องภาคการผลิตมีปัญหา โดยเฉพาะภาค SME ก็ต้องหามาตรการที่ลดต้นทุนใน SME ลดค่าไฟ ลดค่าวัตถุดิบ สามารถทำให้ SME สามารถเข้าถึงเวทีโลกได้ เรื่องการเกษตรต่างๆ แม้ผลผลิตจากราคาสูงขึ้น แต่ต้องเข้าไปดูว่าเรามีผลผลิตพอหรือไม่ บางเรื่องราคาลงขึ้นมาเพราะมีการแอบนำเข้า เช่น การนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง
ดังนั้นต้องมีหลายมาตรการเข้าไปแก้ไข แต่ที่สำคัญที่สุดคือคือต้องมี Road Map ให้เห็นว่าจะทำอะไร เมื่อไหร่ คนที่จะเข้าไปช่วย คนที่จะเข้าไปตรวจสอบ ต้องไปตรวจสอบใคร แต่ในขณะนี้ถ้าไม่มีอะไรนอกจากดิจิทัลวอลเล็ตมันก็เถียงกันในเรื่องแบบนี้ตลอดเวลา ภาพใหญ่กลายเป็นการโตกันไปโต้กันมา มันไม่สามารถจะแนะนำอะไรไปได้มากกว่าที่ทำอยู่ แต่ถ้ามีแผนอย่างชัดเจนก็น่าจะทำได้